เชื่อว่าในวันเวลาที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ คงจะมีหลายคนไม่น้อยที่เริ่มจะหวังให้ฝนตกลงมา เพื่อที่จะได้มีโอกาสสัมผัสกับกลิ่นไอดิน และคลายความร้อนที่ต้องพบเจอลงไป
แน่นอนว่ากลิ่นไอดินที่เรารับรู้กันหลังจากฝนตกนั้น แท้จริงแล้วมันย่อมไม่ได้เป็นเพียงกลิ่นของดินเปียกๆ อย่างที่เราคิด กลับกันมันเป็นกลิ่นของสารที่ชื่อ “จีออสมิน” (geosmin) ซึ่งถูกปล่อยออกมาโดยแบคทีเรียที่เรียกว่า “สเตรปโตมายซีส” (Streptomyces) อีกที
จนถึงตรงนี้มันอาจจะเป็นความรู้ที่หลายๆ คนทราบกันอยู่แล้ว แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมว่าเจ้ากลิ่นไอดินที่เกิดขึ้นตอนฝนตกนั้น มันเกิดขึ้น “เพื่ออะไร” และทำไมกัน มนุษย์เราถึงได้ชอบกลิ่นดินขนาดนี้
เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงได้ตัดสินใจที่ทำทำการทดลองและเฝ้าสังเกตการณ์แบคทีเรียสเตรปโตมายซีสในดินอย่างละเอียด ซึ่งทำให้พวกเขาพบกับความจริงที่น่าสนใจขึ้นมาข้อหนึ่ง นั่นคือกลิ่นไอดินหรือจีออสมินนั้น จริงๆ แล้วนับว่ามีความสำคัญกับการขยายพันธุ์ของแบคทีเรียสเตรปโตมายซีส อย่างไม่น่าเชื่อเลย
อ้างอิงจากข้อมูลที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature เป้าหมายหลักๆ ที่แบคทีเรียสเตรปโตมายซีสปล่อย จีออสมินออกมานั้น จะมีเป้าหมายหลักๆ อยู่ที่การล่อให้ “แมลงหางดีด” เข้ามาหาตัวเอง
โดยสเตรปโตมายซีสนั้น ตามปกติจะอยู่กันเป็นอาณานิคม โดยพวกมันจะปล่อยสารจีออสมินออกมาอยู่สองแบบหลักๆ คือการเรื่อยๆ สะสมไว้ในดิน (ซึ่งเวลาฝนตก กลิ่นส่วนนี้จะกระจายขึ้นมาจนเป็นกลิ่นไอดิน) และการปล่อยออกมาในตอนพวกมันตาย
การปล่อยกลิ่นที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นับว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าสนใจเลย เพราะตามปกติกลิ่นไอดินเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่แมลงหางดีดชอบมาก และมันก็มักจะตามกลิ่นดังกล่าวไปหาแหล่งอาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรียสเตรปโตมายซีสเองด้วย
ซึ่งนั่นหมายความว่าสเตรปโตมายซีสไม่เพียงแต่จะปล่อยกลิ่นที่แมลงหางดีดชอบอยู่เรื่อยๆ เพื่อล่อมันมาหาเท่านั้น แต่มันยังปล่อยกินอีกครั้งตอนที่มันถูกกินราวกับให้รางวัลแมลงดังกล่าวที่กินตัวเองเข้าไปเลย
นี่อาจจะเป็นการกระทำที่ดูแปลก และผิดหลักการเอาตัวรอดโดยทั่วไปของสิ่งมีชีวิตอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่แบคทีเรียสเตรปโตมายซีสมักมีการอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มและขยายพันธุ์ในรูปแบบสปอร์พวกมันจึงสามารถเลือกจะใช้ตัวมันเองล่อแมลงหางดีดให้มากิน เพื่อที่จะให้สปอร์ของมันติดไปกับตัวแมลงหางดีดและขยายพันธุ์ในที่ไกลๆ ได้
ซึ่งปริมาณสปอร์ของแบคทีเรียที่ติดตัวแมลงไปนั้น ก็แน่นอนว่าย่อมนำไปสู่แบคทีเรียรุ่นต่อไปที่มีจำนวนมากกว่ารุ่นเก่าๆ ที่ถูกกินไป ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดนี้ เรียกได้ว่าเป็นมีชีวิตอยู่ด้วยกันแบบที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายก็คงไม่ผิด
“แมลงหางดีดจะถูกดึงดูดไปยังอาณานิคมของแบคทีเรียสเตรปโตมายซีส และกลายเป็นตัวกลางในการแพร่กระจายสปอร์ทั้งทางเม็ดอุจจาระและผ่านการเกาะติดกับผิวหนังไป” ทีมนักวิจัยระบุ
นั่นหมายความว่าสำหรับเจ้าแบคทีเรียตัวนี้แล้วจีออสมินนั้นถือว่ามีการทำงานคล้ายกับกลิ่นหอมของดอกไม้ ที่จะดึงผึ้งมาผสมเกสรให้ และเหตุผลที่มนุษย์เราชอบกลิ่นของไอดินเอง ก็อาจจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่พวกเราชอบกลิ่นของดอกไม้หลายๆ ชนิดนั่นเอง
ที่มา sciencealert, smithsonianmag
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น