ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 120 ล้านปีก่อน ในดินแดนที่ต่อมากลายเป็นประเทศจีน “Microraptor zhaoianus” ไดโนเสาร์ขนาดเล็กซึ่งมีรูปร่างคล้ายนก ได้กลืนกิ้งก่าโบราณตัวหนึ่งเข้าไปเพื่อเป็นอาหาร แต่แทนที่จะถูกย่อยไปในกระเพาะตามปกติ เจ้าไดโนเสาร์นกกลับตายกลายเป็นฟอสซิลไปเสียก่อน
เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ในที่สุดร่างของเจ้าไดโนเสาร์นกตัวนี้ก็ถูกค้นพบอีกครั้งโดยเหล่านักบรรพชีวินวิทยา พร้อมๆ กับอาหารมื้อสุดท้ายที่ยังคงอยู่ในท้องของมัน
แน่นอนว่าลำพังแค่การค้นพบไดโนเสาร์นกอย่าง M. zhaoianus นั้น ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของทีมค้นหาแล้ว แต่สำหรับการค้นพบในครั้งนี้ ส่วนสำคัญมันอยู่ที่กิ้งก่าที่เป็นเหยื่อของเจ้าไดโนเสาร์ต่างหาก
เพราะเมื่อทำการตรวจสอบฟอสซิลที่พบอย่างละเอียด นักบรรพชีวินก็พบว่าฟอสซิลของกิ้งก่าที่พวกเขาพบ มันเป็นของกิ้งก่าสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการพบมาก่อนนั่นเอง
อ้างอิงจากทีมนักวิทยาศาสตร์ กิ้งก่าที่ถูกพบในครั้งนี้ ได้รับการตั้งชื่อว่า “Indrasaurus wangi” โดยชื่อหลังนั้นถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่คุณ Yuan Wang ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาของจีน ส่วนชื่อหน้ามาจากตำนานอินเดียโบราณที่เกี่ยวกับเทพอินทรา (พระอินทร์) ซึ่งถูกมังกร (หรือนาค) กลืนกิน
จากการตรวจสอบฟันของกิ้งก่าที่พบ ทีมวิจัยก็พบว่ากิ้งก่าตัวนี้มีฟันที่ห่างกันกว่ากิ้งก่าพันธุ์อื่นๆ ในยุคเดียวกันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่า Indrasaurus wangi จะมีการทานอาหารที่แตกต่างไปจาก กิ้งก่าสายพันธุ์ใกล้เคียง
ทั้งนี้เองนอกจากฟอสซิลที่ถูกพบในครั้งนี้แล้ว ในพื้นที่ใกล้เคียงกันเองนักบรรพชีวินเองก็ยังมีโอกาสพบกับฟอสซิล M. zhaoianus ตัวอื่นๆ ที่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา และนกอยู่ในท้องด้วย
ซึ่งฟอสซิลเหล่านี้เองก็จะถูกทีมนักวิทยาศาสตร์นำมาทำเป็นแผนผังห่วงโซ่อาหารในอดีตต่อไป
ที่มา livescience, cell
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น