CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์เผยการค้นพบ “ผืนป่าที่เก่าแก่ที่สุดในโลก” ในนิวยอร์ก คาดมีอายุกว่า 386 ล้านปี

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2009 ภายในแผ่นซีเมนต์ ในเหมืองร้างใกล้ๆ แม่น้ำฮัดสัน ของเมืองไคโร นครนิวยอร์ก ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นพบฟอสซิลหลักฐานของผืนป่าส่วนหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งบางชิ้นมีความกว้างมากถึง 11 เมตร

 

 

การค้นพบในวันนั้น ถูกรายงานออกมาอย่างเป็นทางการในอีก 10 ปีต่อมา เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจสอบตัวอย่างฟอสซิลที่พวกเขาพบ และทราบว่าหลักฐานของผืนป่าที่พวกเขาพบนั้นมีอายุมากกว่า 386 ล้านปี เก่าแก่กว่าหลักฐานป่าโบราณที่เราเคยพบมาในกิลโบอา (เมืองอีกเมืองในนครนิวยอร์ก) ถึง 3 ล้านปี

นั่นหมายความว่า ฟอสซิลผืนป่าที่ถูกพบในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นฟอสซิลที่มีขนาดใหญ่มากๆ อย่างไม่น่าเชื่อเท่านั้น แต่มันยังเป็นฟอสซิลผืนป่าที่ได้ชื่อว่า “เก่าแก่ที่สุดในโลก” อีกด้วย

อ้างอิงจากรายงานการค้นพบ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร “Current Biology” ผืนป่าที่พวกเขาพบในครั้งนี้ มีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร และมีต้นไม้ภายในส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ในตระกูล Cladoxylopsids และ Archaeopteris

 

 

“คุณกำลังเดินผ่านรากของต้นไม้โบราณ บนพื้นผิวเหมืองหินแห่งนี้ เราจะสามารถจินตนาการป่าที่มีชีวิตอยู่รอบตัวเราได้จากสิ่งที่พบ” คุณ Christopher Berry นักบรรพพฤกษศาสตร์จากมหาลัยคาร์ดิฟฟ์กล่าว

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าผืนป่าแห่งนี้ ในอดีตน่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้มากมายที่เพิ่มออกซิเจนให้กับโลกจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอากาศในช่วงกลางยุคดีโวเนียน (Devonian era) และทำให้แมลงในสมัยนั้น สามารถมีขนาดใหญ่ได้แบบไม่น่าเชื่อ

 

 

“ในตอนท้ายของยุคดีโวเนียน (ราวๆ 360 ล้านปีก่อน ) ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ลดลงมาสู่ระดับที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้” คุณ Christopher ชี้

ส่วนเหตุผลที่ป่าแห่งนี้สูญหายไปและเหลือไว้เพียงแค่ฟอสซิลนั้น นักบรรพพฤกษศาสตร์คาดกันว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการที่ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ก็เป็นได้ อย่างอิงจากการที่ในพื้นที่เคยมีการค้นพบฟอสซิลสัตว์น้ำในตระกูลปลามาก่อนนั่นเอง

 

ที่มา sciencealert, livescience และ phys


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น