เชื่อว่าเพื่อนๆ คงจะมีช่วงเวลาที่มอง “หมึก” แล้วเกิดสงสัยขึ้นมาว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตตัวนี้มันเป็นสิ่งมีชีวิตบนโลกจริงๆ เหรอขึ้นมากันบ้าง เพราะรูปร่างและอวัยวะอย่างหนวดของสัตว์ตัวนี้นั้น มันช่างเป็นอะไรที่น่าพิศวงเสียจริงๆ
ดังนั้นแล้วคงจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับหลายๆ คนเท่าไหร่ที่เมื่อล่าสุดนี้ จะมีงานวิจัยซึ่งบอกว่าเราอาจจะเข้าใจมนุษย์ต่างดาวได้มากขึ้นจากการศึกษาสัตว์ในตระกูลหมึกก็เป็นได้
นี่เป็นงานวิจัยของทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันซึ่งได้รับการนำเสนอในการประชุมชีวดาราศาสตร์ประจำปี 2019 และเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำงานของหนวดหมึก ภายใต้แนวคิดที่ว่าหนวดเหล่านี้อาจจะสามารถขยับได้เองโดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยสมองของตัวหมึกด้วยซ้ำ
โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของหนวดหมึกต่อสิ่งเร้ารอบๆ โดยละเอียดด้วยการจับภาพแบบพิเศษ และโปรแกรมติดตามการเคลื่อนไหวของหนวดแต่ละเส้น
พวกเขาค้นพบว่าหนวดของหมึกนั้นสามารถทำงานแยกกันเป็นเอกเทศ ทั้งในการเคลื่อนไหว หาอาหาร สำรวจพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สามารถทำงานร่วมกันเองได้อย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ
นักวิจัยคาดว่าที่เป็นแบบนี้เป็นเพราะหนวดของหมึกนั้นมีวงแหวนประสาทแบบพิเศษเรียกว่า “Ganglia” ซึ่งที่สามารถรับข้อมูลจากปุ่มบนหนวด รับรู้ที่อยู่ของหนวดเส้นอื่นๆ และออกคำสั่งให้หนวดทำงานได้เองโดยที่ไม่ต้องผ่านสมองหมึก
ลักษณะเช่นนี้ ทำให้หนวดทั้ง 8 เส้นของหมึกสามารถเลือกการเคลื่อนไหวที่ดีที่สุดได้เอง โดยที่สมองของมันไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยซ้ำว่าหนวดแต่ละเส้นอยู่ตรงไหน ซึ่งนับเป็นระบบการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก สำหรับการเคลื่อนที่ในพื้นที่กว้างขนาดใหญ่ที่ยากแก่การหาข้างบนข้างล่างอย่างอวกาศ
นอกจากนี้เอง แม้จะมีระบบการเคลื่อนไหวที่อ้างอิงระบบประสาทเป็นหลัก สัตว์ในตระกูลหมึกเองกลับสามารถแสดงความฉลาดในระดับสูงออกมาให้เห็นได้อยู่ดี อย่างในงานวิจัยของปี 2009 พวกมันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าหมึกนั้นฉลาดพอที่จะทำตามคำสั่งที่ได้รับเพื่อรางวัล
ดังนั้นคุณ Dominic Sivitilli เจ้าของงานวิจัยจึงได้ออกมาบอกว่า การทำความเข้าใจระบบประสาทและความคิดสุดซับซ้อนเหล่านี้นั้นอาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่เราจะใช้ในการเรียนรู้สิ่งมีชีวิตที่อยู่นอกโลกก็เป็นได้
ที่มา livescience, sputniknews และ foxnews
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น