เรียกได้ว่าเป็นของขวัญวันปีใหม่ (หรือวันคริสต์มาสแล้วแต่จะมอง) จากทางองค์กรนาซาเลยก็คงไม่ผิดนัก เมื่อล่าสุดนี้เอง ทางองค์กรนาซาได้มีการออกมาเปิดเผย ภาพถ่ายสุดงดงามภาพใหม่ของกลุ่มก๊าซในอวกาศ ที่หากดูเผินๆ แล้วจะนึกว่าเป็น “เมฆเพลิง” ได้ไม่ยาก
ภาพเห็นนี้ เป็นภาพของ “เมฆโมเลกุลเพอร์ซิอัส” (Perseus Molecular Cloud) กลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองขนาดใหญ่ที่ทอดยาวกว่า 500 ปีแสง ใกล้ๆ กลุ่มดาวเพอร์ซิอัส
โดยกลุ่มดาวที่ว่านี้อยู่ห่างออกไปจากโลกราวๆ 1,000 ปีแสง (ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของกาแลคซีทางช้างเผือกที่กว้างถึง 100,000 ปีแสง) และเป็นสถานที่ตั้งของดวงดาวทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์เกิดใหม่จำนวนมาก
อ้างอิงจากนักดาราศาสตร์ ภายในตัวเมฆโมเลกุลเพอร์ซิอัสนั้นประกอบไปด้วยฝุ่นร้อนและก๊าซ ในมวลที่มากพอๆ กับดวงอาทิตย์ 10,000 ดวง อย่างไรก็ตามพวกมันกลับแทบจะไม่มีการส่องแสงให้มนุษย์มองเห็นด้วยตาเปล่าเลย
ตำแหน่งของเมฆโมเลกุลเพอร์ซิอัส
ดังนั้น เพื่อที่จะจับภาพของกลุ่มก๊าซในอวกาศภาพนี้ ทางนาซาจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ “สปิตเซอร์” ซึ่งอยู่ปล่อยออกไปตั้งแต่ปี 2003 และมีความสามารถที่จับภาพแสงอินฟราเรดจากความร้อนของดวงดาวได้
ความสามารถนี้ทำให้กล้องสปิตเซอร์ มีความเหมาะสมที่จะจับภาพของเมฆโมเลกุลเพอร์ซิอัสซึ่งเป็นฝุ่นร้อนที่มีการแผ่แสงอินฟราเรดออกมาในปริมาณสูงเป็นอย่างมาก เกิดเป็นภาพของอวกาศที่มีลักษณะราวกับลุกเป็นเพลิงอย่างที่เห็น
โดยเจ้าหน้าที่ของทางนาซาได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า ในจุดที่มีกลุ่มดาว เช่นจุดสว่างที่อยู่ทางด้านซ้ายของภาพ จะมีการสร้างแสงอินฟราเรดที่มากอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก ส่งผลให้เมฆรอบๆ มันส่องสว่าง ไม่ต่างกับที่ดวงอาทิตย์ทำให้เมฆบนฟ้าดูสว่างในตอนพระอาทิตย์ตกดิน
ตัวอย่างจุดที่มีกลุ่มดาวจากในภาพ
และเราก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพของกลุ่มเมฆโมเลกุลที่ออกมานี้ มันช่างมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูกจริงๆ
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น