CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

พบ “Phoebodus” ฉลามโบราณอายุ 360 ล้านปี ที่มีลักษณะเหมือนปลาไหลไม่มีผิด

ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แทบทุกสิ่งที่อย่างที่นักบรรพชีวินวิทยาทราบเกี่ยวกับฉลามโบราณ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มาจากฟันของมันล้วนๆ นั่นเพราะสัตว์ชนิดนี้มีโครงกระดูกที่ทำจากกระดูกอ่อน ซึ่งไม่ได้กลายเป็นฟอสซิลง่ายๆ แบบกระดูกธรรมดา

ดังนั้น ในตอนที่นักวิทยาศาสตร์ทำการค้นพบกะโหลกจำนวนมากและโครงกระดูกที่เกือบสมบูรณ์ของฉลามโบราณอายุ 360 ล้านปีที่เทือกเขาแอตลาสตอนล่าง (Anti-Atlas) ประเทศโมร็อกโก การค้นพบในครั้งนี้กลายเป็นการค้นพบที่สร้างความแปลกใจและดีใจในเวลาเดียวกันให้กับนักบรรพชีวินเป็นอย่างมาก

 

 

ฟอสซิลที่ถูกค้นพบนั้นส่วนหนึ่งได้ถูกอธิบายไว้ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B ว่ามาจาก ฉลามโบราณสองสายพันธุ์ในสกุล “Phoebodus” ซึ่งเชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปในช่วงยุคคาร์บอนิเฟอรัส ราวๆ 299-359 ล้านปีก่อน และในปัจจุบันเราก็ไม่พบฉลามสายพันธุ์ไหนที่น่าจะสืบเชื้อสายมาจากพวกมันเลย

เมื่อลองทำการซีทีสแกนฟอสซิลที่พบ นักบรรพชีวินก็พบว่าฉลามตัวนี้ มีรูปร่างของกระดูกที่ประหลาดเป็นอย่างมาก พวกมันไม่เพียงแต่จะมีรูปร่างเพรียวยาวเท่านั้น แต่ยังมีกะโหลกศีรษะและกรามที่แบน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกว่า รูปร่างที่ออกมานั้นคล้ายกับปลาไหลมากกว่าฉลามเสียอีก

 

ภาพจำลองของฉลาม Phoebodus

 

 

ฉลาม Phoebodus นั้น หากจะให้หาฉลามที่มีลักษณะใกล้เคียงกับพวกมันที่สุด ก็คงจะไม่พ้นปลาฉลามครุย (Chlamydoselachus anguineus) ฉลามน้ำลึกที่มีรายงานว่าถูกพบในเขตน่านน้ำของญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่พวกมันถูกพบค่อนข้างน้อย ข้อมูลของฉลามครุยเองก็มีอยู่น้อยตามไปด้วย

อ้างอิงจากคุณ Christian Klug นักบรรพชีวินจากมหาวิทยาลัยซูริคหนึ่งในทีมวิจัย ฉลามครุยและไม่แน่ว่าอาจจะรวมไปถึง Phoebodus มีการล่าเหยื่อที่ต่างไปจากฉลามทั่วๆ ไปมาก เพราะแทนที่พวกมันจะใช้ฟันในการฉีกเหยื่อ ฉลามเหล่านี้จะใช้ฟันแบบเฉพาะในการจับเหยื่อ และกลืนเหยื่อของมันลงไปทั้งตัวแทน

 

ปลาฉลามครุย (Chlamydoselachus anguineus)

 

ลักษณะของฟันและปากเช่นนี้ ยังมีความคล้ายกับปลาอัลลิเกเตอร์ซึ่งเป็นปลาสายพันธุ์โบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ล้านปีอีกด้วย โดยปลาอัลลิเกเตอร์จะมีขากรรไกรที่ยาวและหัวที่แบนซึ่งทำให้พวกมันจับเหยื่อที่เขามาหาได้ในแทบทุกทิศทาง

ซึ่งความคล้ายกันในจุดนี้เอง ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่า Phoebodus เองก็อาจจะวิวัฒนาการรูปร่างของมันให้ออกมาในสภาพนี้เมื่อราวหลายร้อยล้านปีก่อนเพื่อเหตุผลคล้ายๆ กัน

 

 

“เมื่อโครงสร้างหรือกลยุทธ์บางอย่างมีประสิทธิภาพ มันก็จะมีแนวโน้มที่จะปรากฏขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในสิ่งมีชีวิตและในซากดึกดำบรรพ์” คุณ Justin Lemberg นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าว

 

ที่มา smithsonianmag, newsweek, livescience และ royalsocietypublishing


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น