สำหรับในปัจจุบัน มันเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลอดไฟนั้นได้กลายเป็นหนึ่งในของใช้ในชีวิตที่ไม่ว่าใครก็คงรู้จักและมีอยู่ในครอบครองไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีชิ้นนี้เรียกได้ว่าพัฒนาการจากที่เคยเป็นมาไกลแสนไกลเหลือเกิน
แต่เชื่อกันไหมว่าย้อนไปในอดีต เราก็เคยมีช่วงเวลาอยู่ช่วงหนึ่งซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเคยร่วมมือกันเพื่อพยายาม “ลดคุณภาพ” ของหลอดไฟที่ประชาชนใช้อยู่ด้วย
พวกเขาทำมันไปเพื่ออะไร? ทำไมคนกลุ่มคนถึงจำเป็นต้องอยากลดคุณภาพของสินค้าแบบหลอดไฟด้วย?
ในวันนี้เราจะไปชมเรื่องราวของกลุ่มพันธมิตรเพื่อการลดคุณภาพหลอดไฟที่มีชื่อว่า “Phoebus cartel” (อ่านว่า “ฟีบัส-คาร์เทลส์” มาจากชื่อเทพแห่งแสงของกรีกโบราณ) กัน
ปัญหาของหลอดไฟ
ย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ของการวางขายในเชิงพาณิชย์ หลอดไฟที่มนุษย์เราใช้นั้น มักจะใช้ระบบการเปล่งแสงด้วยการทำให้ไส้หลอดไฟร้อนสุดๆ จนเกิดเป็นแสง
ปัญหาคือการทำแบบนี้มักจะทำให้เมื่อเวลาผ่านไปไส้หลอดไฟจะค่อยๆ เสียหาย จนอายุของหลอดไฟมีจำกัด
ดังนั้น ผู้ผลิตหลายคนจึงพยายามพัฒนาไส้ในหลอดไฟแบบใหม่ๆ มายืดชีวิตของหลอดไฟตัวเองให้เหนือกว่าคู่แข่งเสมอๆ
ซึ่งความพยายามนี้เอง ก็ทำให้จากที่หลอดไฟเคยอยู่ได้นานแค่ 14 ชั่วโมงในปี 1879 อายุของหลอดไฟก็ค่อยๆ อยู่ได้นานขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งในปี 1920 หลอดไฟหลอดหนึ่งก็อาจมีอายุยืนได้นานสุดถึง 2,500 ชั่วโมง และมีอายุโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,800 ชั่วโมงเลย
จุดเริ่มต้นของ Phoebus cartel
การที่หลิดไฟอายุยืนขึ้น อาจจะเป็นเรื่องที่ฟังดูดีสำหรับผู้บริโภค แค่สำหรับคนขายหลอดไฟแล้ว พวกเขาพบว่าการพัฒนาความทนทานของหลอดไฟที่เกิดขึ้นได้ทำให้รายได้ของพวกเขาลดลงอย่างเห็นได้ชัด
นั่นเพราะแทนที่ผู้คนจะต้องซื้อหลอดไฟเดือนละ 2 หลอด เมื่อหลอดไฟทนขึ้นพวกเขาก็ซื้อหลอดไฟลดลงเป็น เดือนละหลอดหรือ 2 เดือน 1 หลอดแทน
เพื่อที่จะแก้ปัญหารายได้ที่ลดลง ในปี 1925 บริษัทหลอดไฟใหญ่ๆ ทั่วโลกในยุคนั้นอย่าง Osram, General Electric, Tungsram และ Philips จึงได้ตัดสินใจจับมือกันตั้ง Phoebus cartel ขึ้น
โดยพวกเขามีเป้าหมายบังหน้าที่จะ “ปรับมาตรฐานหลอดไฟทั่วโลกให้เหมือนกัน” และมีผลงานที่น่าสนใจเป็นการทำให้เกลียวหลอดไฟทั่วโลกเป็นแบบเดียวกัน
แต่ในผลงานนั้น พวกเขาก็มีเป้าหมายจริงๆ อยู่อีกข้อ คือการตกลงกันว่าจะลดอายุหลอดไฟ ให้เหลือแค่ 1,000 ชั่วโมงเท่านั้น
Phoebus cartel กับความเปลี่ยนแปลง
อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะเริ่มคิดกันแล้วว่า Phoebus cartel นั้นเป็นแค่ทฤษฎีสมคบคิดหรือไม่
แต่กลุ่มพันธมิตรนี้ก็มีหลักฐานว่ามีตัวตนอยู่จริงๆ มากมาย
พวกเขามีหน้าที่รับหลอดไฟตัวอย่างจากบริษัทต่างๆ มาทดสอบอายุการใช้งานในห้องตรวจหลอดไฟขนาดใหญ่ โดยบริษัทใดก็ตามที่ผลิตหลอดไฟที่ใช้ได้นานเกินไปมากๆ จะต้องจากค่าเสียหายให้ส่วนกลาง
ซึ่งบันทึกการเสียค่าเสียหายในจุดนี้เองก็ยังคงถูกเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยบริษัทสมาชิกหลายบริษัทเลยด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้จากที่เคยแข่งกันทำหลอดไฟที่ดีขึ้นบริษัทหลายแห่งจึงเปลี่ยนไปแข่งกันค่อยๆ ทำหลอดไฟให้ “แย่ลง” โดยที่ลูกค้าไม่รู้ตัวแทน
ส่งผลให้ในช่วงปี 1921-1934 อายุของหลอดไฟก็ค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือแค่ 1,200 ชั่วโมง
ตรงข้ามกับยอดขายของหลอดไฟของสมาชิกที่ Phoebus cartel เพิ่มขึ้นถึง 25% ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี เนื่องจากแม้หลอดไฟจะแย่ลง แต่ราคาของหลอดไฟนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย
จุดจบของ Phoebus cartel และเงามืดที่ถูกทิ้งไว้
นับว่าเป็นโชคดีของโลกมากที่ Phoebus cartel นั้นมีอายุไม่ยืนยาวอย่างที่หลายคนกลัวนัก นั่นเพราะแม้ตัว Phoebus cartel จะถูกตั้งขึ้นโดยหวังว่าจะมีระยะสัญญานานถึงปี 1955 ก็ตาม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว Phoebus carte กลับต้องพบทั้งปัญหาคู่แข่งจากภายนอกและการไม่ทำตามกฎของสมาชิกภายใน ดังนั้นในตอนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้น Phoebus cartel จึงต้องสลายตัวไปในที่สุด
แต่ปัญหาคือแม้ต้นตอของปัญหาจะหายไปแล้ว แต่แนวคิดของพวกเขาก็ดูเหมือนจะยังคงอยู่นี่สิ…
นั่นเพราะ Phoebus cartel นั้น เชื่อกันว่าเป็นผู้ที่ทำให้กลยุทธ์การขายสินค้าที่ชื่อว่าการ “ออกแบบให้หมดอายุขัย” (planned obsolescence) กลายเป็นที่แพร่หลายเลยก็ว่าได้
โดยในช่วงหลังจากยุคนั้นมา บริษัทหลายแห่งก็เริ่มจงใจออกแบบสินค้าให้ “พัง” เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งในด้านการผลิต และจิตวิทยา แบบที่ Phoebus cartel เคยทำกับหลอดไฟ
และแม้ว่าเราอาจจะไม่มีหลักฐานว่าแนวคิดนี้แพร่หลายเพราะ Phoebus cartel จริงๆ หรือไม่ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลยุทธ์ที่ Phoebus cartel เคยใช้ในอดีตนั้น ยังถูกใช้อยู่แม้ในปัจจุบันจริงๆ
ที่มา spectrum, npr และ Veritasium
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น