การขยายแหล่งชุมชนของมนุษย์เรานั้น ขึ้นชื่อมาเป็นเวลานานว่าส่งผลกระทบโดยตรงกับสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ อย่างไรก็ตามเมื่อเราถามว่าสัตว์ประเภทไหนบ้างที่ได้รับผลกระทบไปมากที่สุด เรากลับไม่เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาก่อนเลยอย่างไม่น่าเชื่อ
ดังนั้นเมื่อล่าสุดนี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยคุณ Tim Newbold นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน จึงได้ตัดสินใจจัดทำการวิจัยระดับโลกขึ้น เพื่อที่จะหาคำตอบของคำถามข้างบนให้จงได้
พวกเขาได้ทำการตรวจสอบข้อมูลกว่าล้านชิ้นของพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่เมือง ในประเทศกว่า 80 ประเทศ เพื่อทำการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสัตว์ร่วม 2,500 สายพันธุ์และพบว่า
ในบรรดาสัตว์ทั้งหมดที่เรารู้จัก สัตว์กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ของมนุษย์มากที่สุดนั้น ได้แก่สัตว์ในตระกูลนักล่า โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์นักล่าที่ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กอย่างแมงมุม
“โดยปกติเมื่อเราคิดถึงสัตว์นักล่า เราจะคิดถึงสัตว์ใหญ่เช่นสิงโตหรือเสือ แต่นักล่าที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้แท้จริงแล้วจะไม่ได้ลดลงมากเท่ากับที่เราคาดไว้จากเหตุผลอย่างการสูญเสียที่อยู่” คุณ Tim Newbold กล่าวเกี่ยวกับการค้นพบ
“กลับกัน เราพบว่านักล่าขนาดเล็กเช่นแมงมุมหรือเต่าทองต่างหาก ที่กำลังแสดงการลดจำนวนลงไปมากที่สุด”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าที่เป็นแบบนี้ เป็นเพราะการขยายพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มันเป็นการส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณพืชธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งทำให้ปริมาณและความหลากหลายของทรัพยากรทางธรรมชาติโดยรวมในพื้นที่ลดลง
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ แม้ว่าดูเผินๆ จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ทุกชนิดก็ตาม แต่ด้วยลักษณะของห่วงโซ่อาหารที่มีการกินกันเป็นทอดๆ ยิ่งสัตว์อยู่ในระดับสูงขึ้นไปในห่วงโซ่อาหารเท่าไหร่ พวกมันก็จะได้รับได้รับผลกระทบกันจากการลดลงของทรัพยากรเพิ่มขึ้นเท่านั้น
“การใช้ที่ดินของมนุษย์ทำให้ทรัพยากรของโลกลดลงอย่างมาก” คุณ Tim Newbold กล่าว
“หลักฐานจากกลุ่มอนุกรมวิธานและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันหลายแห่ง แสดงให้เห็นว่าการใช้ที่ดินไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบนิเวศอย่างเท่าเทียม เพราะสัตว์กลุ่มต่างๆ จะมีการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด”
ส่วนเหตุผลที่สัตว์นักล่าขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากการสูญเสียที่อยู่มากกว่าสัตว์นักล่าขนาดใหญ่นั้น นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า เป็นไปได้ว่าจะเกิดจากการที่สัตว์นักล่าขนาดใหญ่ ในอดีตได้ลดจำนวนลงไปมากแล้วด้วยเหตุผลอื่นๆ อย่างเช่นการโดนล่าแล้ว
ดังนั้นในงานวิจัยที่มุงเน้นไปที่การสูญเสียที่อยู่อาศัยเช่นนี้ ตัวเลขที่มีอยู่น้อยอยู่แล้วของนักล่าขนาดใหญ่ จึงไม่ได้ลดลงเพิ่มขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับนักล่าขนาดเล็กนั่นเอง
ที่มา besjournals, foxnews และ sciencecodex
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น