ย้อนกลับไปในการสำรวจแหล่งโบราณคดี Çatalhöyük แหล่งโบราณคดีจากยุคนีโอะลีธอิค ของประเทศตุรกีเมื่อช่วงปี 2013-2015 ทีมนักสำรวจได้ทำการค้นพบ ฟันสามชิ้น ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การถูกเจาะรู และมีอายุมากถึง 8,500 ปี
และแล้ว หลังจากที่ฟันดังกล่าวผ่านกระบวนการตรวจสอบมากมายไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการถ่ายภาพรังสี เมื่อล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์ก็พบกับความจริงที่น่าสนใจถึง 2 ข้อของวัตถุโบราณที่เขาพบ นั่นคือ
1. ฟันที่พวกเขาพบ น่าจะเคยถูกใช้งานเป็นเครื่องประดับ ด้วยการรอยเชือกผ่านมาก่อน
2. ฟันเหล่านี้ ไม่ใช่ของสัตว์ป่า แต่เป็นฟันของมนุษย์
อ้างอิงจากทีมนักวิจัย จริงอยู่ว่าที่ผ่านๆ มาเราจะมีหลักฐานว่ามนุษย์ในยุคนีโอะลีธอิคจะมีการนำกระดูกของสัตว์ต่างๆ รอบตัวมาทำเป็นเครื่องประดับ อย่างกำไลข้อมือและสร้อยคอก็ตาม แต่การใช้ชิ้นส่วนกระดูกหรือฟันของมนุษย์มาทำเครื่องประดับ มันกลับไม่ใช่สิ่งที่จะหาพบได้ง่ายๆ เลย (แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหลักฐานเลยเช่นกัน)
ความหายากของวัตถุโบราณในรูปแบบนี้ ทำให้มันเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับนักโบราณคดีที่จะฟันธงว่า เพราะเหตุใดกันคนในสมัยก่อนจึงมีการนำฟันมนุษย์มาใช้เป็นเครื่องประดับเช่นนี้
อย่างไรก็ตามนักวิจัยส่วนใหญ่ก็เชื่อไปในทางเดียวกันว่า “มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่ฟันของมนุษย์ที่ถูกดัดแปลงเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อความสวยงามเท่านั้น” กลับกันฟันของมนุษย์ที่พวกเขาพบน่าจะ “มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งสำหรับผู้ที่สวมใส่มัน” มากกว่า
แหล่งโบราณคดี Çatalhöyük สถานที่ค้นพบฟันเหล่านี้
มันมีความเป็นไปได้ที่ว่าฟันเหล่านี้ จะถูกทำขึ้นมาเพื่อใช้งานเกี่ยวกับพิธีกรรมในอดีตของมนุษย์ในทางตะวันออกใกล้ และด้วยความที่ฟันเหล่านี้ ไม่ได้ถูกพบในสุสานทุกแห่ง ก็อาจจะชี้ว่าพิธีกรรมดังกล่าวนี้ เป็นอะไรที่หายาก หรืออาจจะเป็นพิธีกรรมต้องห้ามในอดีต
ดังนั้น มันจึงเป็นอะไรที่น่าเสียดายมากที่ด้วยหลักฐานในปัจจุบัน ความหมายที่แท้จริงของฟันเหล่านี้จึงยังคงเป็นปริศนาที่ไม่อาจไขให้กระจ่างได้ และกว่าที่เราจะพบหลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันกว่านี้ ข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับสล้อยทำจากฟัน ก็คงจะเป็นได้แค่ข้อสันนิษฐานต่อไป
ที่มา gizmodo, smithsonianmag และ ancient-origins
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น