สาร “ไซโลไซบิน” (psilocybin) เป็นสารหลอนประสาทที่พบได้ในเห็ดกว่า 100 ชนิด อย่างเช่น เห็ดขี้ควาย หรือ เห็ดวิเศษ (Psilocybe cubensis) โดยสารตัวนี้มันมีฤทธิ์ทำให้คนตกอยู่ในภาวะเคลิ้ม มีการรับรู้ที่ผิดเพี้ยน
ลักษณะเช่นนี้เองทำให้ตามปกติคนส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงสารตัวนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไซโลไซบินกลับกำลังเป็นที่สนใจในหมู่นักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมันอาจสามารถนำมาประยุกต์ใช้รักษาโรคซึมเศร้าหรือภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ได้
ปัญหาคือการจะทดลองความสามารถของสารตัวนี้ นักวิทยาศาสตร์มักจะต้องการสารไซโลไซบินในปริมาณที่มาก และเห็ดขี้ควายเองก็ไม่ใช่อะไรที่หาซื้อได้ง่ายๆ
ดังนั้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาแหล่งเก็บเกี่ยวสารไซโลไซบิน ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไมอามีจึงได้ตัดสินใจทำการทดลองชิ้นใหม่ เพื่อที่จะดัดแปลงแบคทีเรียที่พบได้บ่อยๆ ในลำไส้อย่าง Escherichia coli ให้สามารถผลิตสารไซโลไซบินออกมาได้
ภาพจำลองของแบคทีเรีย Escherichia coli
“เราได้นำ DNA จากเห็ดที่เข้ารหัสความสามารถในการทำสารไซโลไซบิน และทดลองนำมันไปใส่ใน E. coli” Andrew Jones ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมีและชีวภาพ หนึ่งในผู้ให้ความรวมมือในงานวิจัยกล่าว
โดยเขาและทีมงานได้ทำการพัฒนาแบคทีเรีย E. coli ที่สามารถผลิตไซโลไซบินออกมาหลายสายพันธุ์ก่อนที่จะนำพวกมันไปทดสอบในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
เพื่อตามหาแบคทีเรีย E. coli สายพันธุ์ดัดแปลงที่สามารถผลิตไซโลไซบินมีความเข้มข้นสูงที่สุด ในขณะที่ผลิตสารข้างเคียงอื่นๆ น้อยที่สุด
เมื่อการทดลองจบลง พวกเขาก็ได้พบว่าแบคทีเรียชื่อ “pPsilo16” มีความสามารถในการผลิตไซโลไซบินที่ดีที่สุด ดังนั้นพวกเขาจึงนำมันไปเพาะพันธุ์ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ เพื่อที่จะผลิตมันออกมาในจำนวนมากต่อไป
“สิ่งที่น่าสนใจของการทดลองนี้คือความเร็วที่เราสามารถบรรลุการผลิตสิ่งที่เราต้องการได้”
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดไปจากความจริงนั่นเพราะการทดลองที่ใช้เวลาราวๆ 18 เดือนชิ้นนี้ สามารถทำให้นักวิทยาศาสตร์ เพิ่มกำลังการผลิตสารไซโลไซบินขึ้นจากที่เป็นมาถึง 500 เท่าเลย
และในปัจจุบันแบคทีเรีย E. coli ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาก็นับว่าเป็นแบคทีเรียที่สามารถผลิตไซโลไซบินได้มากที่สุดเมื่อนำไปเทียบกับสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตามที่มี DNA แบบเดียวกับเห็ดขี้ควาย
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงกล้าพูดอย่างมั่นใจว่าผลการทดลองของพวกเขาจะต้องมีประโยชน์กับการทดลองไซโลไซบินในอนาคต
และเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าในกรณีที่สารตัวนี้ถูกนำไปทำเป็นยาจริงๆ มันจะสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
ที่มา livescience และ sciencedirect
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น