ย้อนกลับไปในปี 2017 ทวีปยุโรปได้พบกับเหตุการณ์ประหลาด เมื่อมีเมฆปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ถูกตรวจจับได้ทั่วพื้นที่ของทวีป ก่อนที่ในเวลาต่อมา เมฆเหล่านี้ก็เริ่มถูกพบในที่อื่นๆ อย่างทวีปเอเชีย คาบสมุทรอาหรับ และทะเลแคริบเบียน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักวิทยาศาสตร์นานาชาติกว่า 70 ราย ซึ่งนำทีมโดยคุณ Georg Steinhauser ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีจากมหาวิทยาลัยฮันโนเวอร์ประเทศเยอรมนี ต้องทำการรวมตัวกันเพื่อตรวจสอบที่มาของเมฆกัมมันตรังสีเหล่านี้
และในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง พวกเขาก็ได้ทำการตีพิมพ์ผลการตรวจสอบของพวกเขาลงในในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เพื่อให้คนทั่วไปได้มีโอกาสรับรู้
ปริมาณสารกัมมันตรังสี (Ruthenium-106) ที่ถูกพบในแต่ละพื้นที่
อ้างอิงจากข้อมูลในงานวิจัย ภายในเมฆกัมมันตรังสีที่นักวิทยาศาสตร์พบนั้นมีสาร “Ruthenium-106” ปนเปื้อนอยู่ โดยเจ้าสารนี้เป็นผลพลอยได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีข้อผิดพลาดระหว่างการปรับกระบวนการเชื้อเพลิงของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ด้วยเหตุนี้เอง ทีมนักวิจัยจึงทราบว่าเมฆกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นนี้มีความเกี่ยวข้องกับน้ำมือของมนุษย์ และสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีการปรับกระบวนการเชื้อเพลิงแบบนี้ในพื้นที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นที่มาของเมฆกัมมันตรังสี ก็มีเพียงแค่โรงงานนิวเคลียร์ “Mayak ” ในรัสเซียเท่านั้นเสียด้วย
ผลการตรวจสอบที่ออกมานี้ สร้างความแปลกใจให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มมาก เพราะโรงงานนิวเคลียร์ Mayak ไม่ได้มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเร็วๆ นี้เลย แถมอุบัติเหตุครั้งสุดท้ายที่มีการบันทึกไว้ก็เกิดขึ้นในปี 1957
เมื่อมีการสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับทางรัสเซีย พวกเขาก็ไม่ได้มีการยอมรับว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่โรงงานจริงๆ ซึ่งทำให้หลายๆ คนคิดว่าโรงงานแห่งนี้ อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตพลูโตเนียม ที่ใช้ในอาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ก็เป็นได้
แม้ว่าทางรัสเซียจะไม่ยอมรับอุบัติเหตุที่โรงงาน Mayak แต่พวกเขาก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเมฆกัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นอยู่ดี
ซึ่งสำหรับทีมนักวิทยาศาสตร์แล้ว พวกเขาบอกว่าจะเป็นการดีมากหากรัสเซียยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่พวกเขา เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงงานวิจัย และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
ที่มา livescience, pnas, washingtonpost, sciencealert, dailymail
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น