CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

วิจัยชี้ หัวใจอาจไม่มีอัตราการเต้นที่ “ปกติ” หลังพบอัตราดังกล่าวต่างกันได้ถึง 70 bpm

60 ถึง 100 ครั้งต่อนาที (bpm) นี่คืออัตราการเต้นของหัวใจขณะพักของผู้ใหญ่ที่เรามักจะได้ยินกันว่าเป็นอัตราที่ “ปกติ” และหากเรามีอัตราการเต้นของหัวใจมากหรือน้อยกว่านี้เกินไป งานวิจัยจากปี 2015 ก็เคยระบุเอาไว้ว่ามันอาจจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัย Scripps Research Translational Institute ในแคลิฟอร์เนียกลับได้ทำการวิจัยชิ้นใหม่และพบว่า

แท้จริงแล้วอัตราการเต้นของหัวใจมนุษย์เรานั้น อาจจะมีความแตกต่างกันมากกว่าที่เราเคยคิด เพราะผู้ใหญ่แต่ละคน อาจจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ต่างกันได้มากถึง 70 ครั้งต่อนาทีเลย

ตัวเลขที่เห็นข้างบนนี้ เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจอาสาสมัครกว่า 92,000 คน ด้วยสมาร์ทวอช ในช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 2 ปี

 

 

โดยจากการเก็บข้อมูลข้างต้นนี้ นักวิจัยได้พบว่า เมื่อพักผ่อนเฉยๆ ไม่ได้ออกกำลังกาย ค่าเฉลี่ยของอัตราการเต้นของหัวใจในหมู่อาสาสมัคร จะสามารถต่ำได้เพียงแค่ 40 bpm และสูงได้มากถึง 109 bpm ซึ่งเรียกได้ว่ามีความแตกต่างจากที่เราเคยคาดการไว้เกือบเท่าตัว

ตัวเลขที่ออกมาห่างจนผิดปกติแบบนี้ ทำให้ทีมวิจัยต้องตรวจสอบถึงตัวแปรของการทดลองอย่างละเอียดอีกครั้งเลย

แน่นอนว่าพวกเขาพบว่า ตัวแปรอย่างเช่น เวลาในการนอน อายุ และน้ำหนักของอาสาสมัครนั้น มีผลต่อความแตกต่างของอัตราการเต้นหัวใจจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นตัวแปรเหล่านี้จะส่งผลแค่ราวๆ 10% ต่อผลการทดลองทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่แปลกมาก

 

 

ดังนั้นนักวิจัยจึงสรุปผลการทดลองของพวกเขาว่า มันอาจจะมีความเป็นไปได้ที่มนุษย์เราจะไม่มีอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักที่ปกติ “ตามค่าเฉลี่ย” และการเต้นของหัวใจคนแต่ละคนนั้น ล้วนแต่จะมีจุดที่ปกติแตกต่างกันไป

แน่นอนว่าการค้นพบแบบนี้ ย่อมขัดกับวิธีการทั่วไปที่เราเคยใช้ในการตรวจของอัตราการเต้นของหัวใจเป็นอย่างมาก และอาจจะทำให้แพทย์หลายๆ คนทั่วโลกต้องมีการปรับความเข้าใจบรรทัดฐานเกี่ยวกับการวัดการเต้นของหัวใจกันใหม่เลยด้วย

นั่นเพราะหากอ้างอิงจากการทดลองในครั้งนี้ สิ่งที่เป็นเรื่องปกติสำหรับคนคนหนึ่ง อาจจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องไม่ปกติที่อาจนำมาซึ่งโรคร้าย โดยคนอีกคนหนึ่งก็เป็นได้

 

 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ด้วยความที่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยอีกร่วม 90% ที่ทำให้หัวใจของมนุษย์มีการเต้นที่แตกต่างกันขนาดนี้ พวกเขาจึงยังอาจจะต้องใช้เวลาอีกมากกว่าที่จะเข้าใจค่าที่แท้จริงของอัตราการเต้นของหัวใจ และหาคำตอบว่าเราควรจะใช้ตัวเลขนี้ อ้างอิงในการหาความเสี่ยงโรคภัยจริงๆ ไหม

และกว่าที่วันนั้นจะมาถึงหากเราพบว่าตัวเองมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงหรือต่ำเกินไปอย่างผิดสังเกต การปรึกษาแพทย์ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่สมควรทำอยู่ดี

 

ที่มา livescience, dailymail, plos


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น