สำหรับหลายๆ คนแล้ว เชื่อว่าตัวต้นของสัตว์ชื่อ “จิ้งเหลนขาเรียว” (Three-toed Skink) หรือ “Saiphos equalis” คงจะเป็นอะไรที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยนัก อย่างไรก็ตามสำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาแล้ว สัตว์ตัวนี้ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
นั่นเพราะจิ้งเหลนขาเรียวนั้น ไม่เพียงแต่จะมีรูปร่างเหมือนกับ “งูมีขา” เท่านั้น แต่มันยังเป็นสัตว์ที่มีระบบสืบพันธุ์ที่แปลกประหลาดมากด้วย เพราะเจ้าสัตว์ชนิดนี้ สามารถออกลูกได้ทั้งเป็นตัวและเป็นไข่ แถมในบางครั้งมันยังออกอยู่มาเป็นทั้งตัวและไข่ในครอกเดียวกัน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคยถูกพบมาก่อนในสัตว์ชนิดอื่นๆ เลย
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันมีความเป็นไปได้สูงมากที่ลักษณะของจิ้งเหลนขาเรียวที่พบ จะเกิดจากการที่มันเป็นหนึ่งในสัตว์กลุ่มที่กำลังวิวัฒนาการเกี่ยวกับการออกลูกอยู่ แต่ปัญหาคือมันกำลังวิวัฒนาการจากการออกลูกเป็นไข่ไปเป็นตัว หรือจากการออกลูกจากตัวไปเป็นไข่กันแน่ กลับเป็นเรื่องที่เรายังไม่อาจทราบได้เลย
“มันเป็นการค้นพบที่ผิดปกติมากๆ” คุณ Camilla Whittington นักชีววิทยาด้านการวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวเกี่ยวกับจิ้งเหลนขาเรียว “เราไม่รู้ว่าวิวัฒนาการของสัตว์ตัวนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด”
จริงอยู่ที่ตามปกติการออกลูกเป็นตัวจะพัฒนาการมาจากการออกลูกเป็นไข่ “แต่ในบางสภาพแวดล้อมการวางไข่อาจมีประโยชน์มากกว่าการของดูแลลูกในท้อง ซึ่งในสถานการณ์นั้นเราจะคาดว่าการวางไข่จะคงอยู่ต่อไป”
แน่นอนว่าตั้งแต่ที่มีการค้นพบความสามารถนี้ของจิ้งเหลนขาเรียว นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามเรื่อยมาที่จะไขปริศนาของสัตว์ชนิดนี้ให้จนได้
โดยในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า จิ้งเหลนขาเรียวนั้นจะมีอัตราการออกลูกเป็นตัวต่อการออกลูกเป็นไข่ที่ต่างกันไปตามพื้นที่ที่มันอยู่ โดยหากมันอาศัยอยู่ในที่ที่อบอุ่นอย่างในเมืองแบบที่ซิดนีย์จิ้งเหลนขาเรียวจะมีโอกาสออกลูกเป็นไข่มากกว่าเป็นตัว ในขณะที่ในพื้นที่เย็นอย่างนิวเซาธ์เวลส์จิ้งเหลนขาเรียวจะออกลูกเป็นตัวมากกว่าเป็นไข่
คุณ Camilla ก็บอกหนึ่งในทฤษฎีที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้อธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ คือจิ้งเหลนขาเรียวมีความสามารถในการปรับตัวที่ทั้งสูงและรวดเร็ว ทำให้มันสามารถปรับเปลี่ยนการออกลูก เพื่อให้ลูกหลานมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้นได้
แนวคิดนี้ มีหลักฐานสนับสนุนจากการที่มันจะออกลูกเป็นตัวในพื้นที่อากาศเย็น ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานเชิงวิวัฒนาการที่ชื่อ “สมมติฐานสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น” ที่บอกว่าในอากาศหนาว การอุ้มท้องลูกเองจะทำให้ตัวอ่อนมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่าการออกไข่นั่นเอง
แต่ต่อให้มีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมามากแค่ไหน สุดท้ายแล้วสิ่งเดียวที่เราพอจะพูดได้เต็มปากเกี่ยวกับจิ้งเหลนเหล่านี้ในปัจจุบัน ก็มีเพียงแค่เรื่องที่ว่าจิ้งเหลนขาเรียวนั้น เป็นหนึ่งในสัตว์ไม่กี่ชนิดในโลก ที่กำลังอยู่กึ่งกลางการวิวัฒนาการระหว่างการออกลูกเป็นไข่และการออกลูกเป็นตัวก็เท่านั้น
“เรายังมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ที่ยังคงเป็นปริศนาที่ยังไม่อาจฟันธงได้” คุณ Camilla สรุป “และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงยังคงต้องศึกษาทดลองกับสัตว์เหล่านี้กันต่อไป”
ที่มา allthatsinteresting และ onlinelibrary
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น