ในช่วงเวลาที่โลกกำลังตกอยู่ในความหวาดกลัวของโรคระบาดร้ายแรงชิ้นใหม่เช่นนี้ เชื่อว่าชื่อของไวรัสในตระกูล “โคโรนา” คงจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ยินกันมาสักครั้ง
แต่แม้ว่าเรื่องราวของไวรัสนี้จะดูเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับหลายๆ คน ในความเป็นจริงแล้วการแพร่ระบาดของไวรัสในตระกูลนี้ กลับเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ในชื่อของ “โรคซาร์ส”
โรคซาร์ส (SARS) หรือ กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสชื่อ SARS-CoV โดยมันเป็นโรคที่มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงปี 2002-2004 ในฐานะของโรคระบบทางเดินหายใจสุดโหด ที่แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีวิธีรักษาที่ชัดเจน
โรคซาร์สเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายปี 2002 ก่อนที่จะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2003 ก่อนที่จะเริ่มเลือนหายไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2004 เป็นต้นมา
การระบาดของโรคซาร์สนั้นถูกบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นด้วยกันสองครั้งใหญ่ๆ โดยมันมีการระบาดครั้งแรกในช่วงปี 2002-2003 เป็นการระบาดครั้งสำคัญ เนื่องจากการระบาดในครั้งนี้ ทำให้เกิดการติดเชื้อในประชาชนของประเทศต่างๆ กว่า 24 ประเทศ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 8,098 ราย และมีผู้เสียชีวิต 774 ราย
ในขณะที่การระบาดครั้งที่สองถูกระบุไว้ว่าเกิดขึ้นจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในประเทศจีน จากการที่มีทีมวิจัยสัมผัสตัวอย่างโรคที่เก็บไว้โดยตรง และเป็นการระบาดเล็กๆ ที่ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขทั้งยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต
ความน่ากลัวของโรคซาร์สในอดีตนั้นอยู่ที่ความสามารถในการแพร่เชื้อของตัวโรคเอง เพราะไม่เพียงแต่โรคดังกล่าวจะสามารถแพร่กระจาย
นอกจากนี้ไวรัสดังกล่าวยังมีความคงทนต่อสภาพอากาศภายนอกค่อนข้างสูง โดยมันอาจตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานานส่งผลให้ในบางครั้ง แม้แต่การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยอาจจะนำมาซึ่งการติดเชื้อได้ไม่ยาก
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายโรคซาร์สจะมีระยะเวลาฟักตัวอยู่ที่ราวๆ 3-5 วัน (ในช่วงเวลานี้โรคจะยังไม่ติดต่อ) และเมื่อเชื้อแสดงอาการ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง ปวดเมื่อย หนาวสั่น ท้องเสีย ไอแห้ง หายใจถี่ ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่คล้ายกับโรคไข้หวัดทั่วไป
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคซาร์สบางคนอาจจะต้องพบกับอาการร่วมอื่นๆ เช่นโรคปอดบวม หรือมีการติดเชื้อของปอด และในกรณีที่เลวร้ายมากๆ ผู้ป่วบก็อาจจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ตับวาย หรือแม้แต่หัวใจล้มเหลวได้เลย
ตั้งแต่ที่เกิดโรคซาร์สขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามกันเป็นอย่างมากที่ในการสร้างวัคซีนที่จะใช้เพื่อป้องกันการกลับมาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ของโรคซาร์สในอนาคต อย่างไรก็ตามด้วยความที่โรคซาร์ได้หายไปแบบแทบจะสิ้นเชิงหลังจากปี 2004 การสร้างวัคซีนจึงดำเนินการไปแบบค่อนข้างช้า
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ ก็เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยออกมาเมื่อปี 2013 เท่านั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีปิดชิ้นส่วนบางชิ้นของไวรัส เพื่อทำให้มันไม่สามารถซ่อนตัวจากระบบภูมิคุ้มกันได้
ดังนั้น แม้แต่ในปัจจุบัน เราจึงยังไม่มีวัคซีนใดๆ ที่ได้รับการยอมรับเลยว่า จะใช้รักษาโรคซาร์สได้จริงๆ ในกรณีที่มันกลับมาสำแดงความเลวร้ายอีกครั้ง ในสักวันหนึ่ง
ที่มา nhs, medicalnewstoday
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น