ย้อนกลับไปเล็กน้อยเมื่อราวๆ ปี 2016 ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นพบซูเปอร์โนวาขนาดใหญ่ ห่างออกไปจากโลกไปราวๆ 3,600-4,500 ล้านปีแสง โดยในเวลานั้นมันได้รับชื่อว่า “SN2016aps” และถูกสังเกตการณ์เรื่อยมาโดยทีมนักดาราศาสตร์
ซูเปอร์โนวาลูกนี้ถือว่ามีความรุนแรงที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะแทนที่มันจะสิ้นสุดลงในเวลาเพียงไม่กี่เดือนเหมือนซูเปอร์โนวาตามปกติ SN2016aps นั้นกลับสามารถส่องสว่างอยู่ได้เป็นปีๆ และเพิ่งดับลงในปี 2019 เท่านั้น ซึ่งสร้างความสนใจให้กับเหล่าทีมผู้สังเกตการณ์เป็นอย่างมาก
และแล้วหลังจากที่ใช้เวลาการศึกษา SN2016aps อยู่หลายปี เมื่อล่าสุดนี้เอง ทีมนักดาราศาสตร์ก็ได้ออกมารายงานเรื่องราวของ SN2016aps อย่างเป็นทางการในวารสาร “Nature Astronomy” อีกครั้ง โดยยกให้ซูเปอร์โนวาในครั้งนี้เป็นซูเปอร์โนวาที่ทรงพลังสูงสุดเท่าที่มนุษย์เคยพบมาไป
อ้างอิงจากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพวกเขาได้สังเกตการณ์ซูเปอร์โนวา SN2016aps โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์และระบบสำรวจท้องฟ้า Pan-STARRS ในฮาวายเป็นเครื่องมือหลัก
ในการตรวจสอบนี้เองที่พวกเขาพบว่าซูเปอร์โนวา SN2016aps นั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวาที่กินเวลานานที่สุดเท่าที่เราเคยพบมาเท่านั้น แต่มันยังปลดปล่อยพลังงานออกมามากกว่าซูเปอร์โนวาทั่วๆ ไปถึง 5 เท่า ซึ่งทำให้มันกลายเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างที่สุดเท่าที่เราเคยพบมาได้ไม่ยาก
คุณ Matt Nicholl นักฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในอังกฤษ หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของซูเปอร์โนวา SN2016aps นั้น เป็นไปได้ว่าจะเป็นเพราะมันไม่ได้ระเบิดจากดาวฤกษ์ธรรมดาเหมือนซูเปอร์โนวาตามปกติ
กลับกันมันน่าจะเกิดจากการชนกันของดาวฤกษ์มวลยิ่งยวด 2 ดวงขึ้นไป ที่มีมวลรวมกันมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 50-100 เท่าได้ ส่งผลให้เกิดเป็นกลุ่มก๊าซขนาดใหญ่ในอวกาศก่อนที่จะเกิดการระเบิดอีกที ซึ่งถือว่าเป็นการระเบิดที่เป็นเอกลักษณ์มาก และแน่นอนว่าทำให้มันมีพลังงานสูงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“การค้นพบซูเปอร์โนวาสุดพิเศษ ถือว่าเกิดขึ้นในเวลาที่ดีมากๆ” คุณ Edo Berger ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
“ในเวลานี้เรารู้แล้วว่าการระเบิดพลังดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นในธรรมชาติได้ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศอันใหม่ของนาซาก็อาจจะสามารถใช้มันตามหาเหตุการณ์ที่คล้ายกันในอวกาศเพื่อให้เราสามารถย้อนเวลากลับไปสู่ความตายของดาวดวงแรกในจักรวาลได้เลย”
ที่มา livescience, cnn และ sciencealert
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น