ดำดิ่งลงไปหลายร้อยเมตรใต้ผิวน้ำ นอกชายหาดของประเทศฟิลิปปินส์ ทีมนักวิทยาศาสตร์ ได้ทำการค้นพบจุดใต้น้ำจุดหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราวกับพวกเขาแหวกว่ายอยู่ในน้ำอัดลมไม่มีผิด
การค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นโดยฝีมือของ ทีมนักสำรวจที่นำโดย คุณ Bayani Cardenas ศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ธรณีแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน ผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำการวิจัยศึกษาผลกระทบของการไหลบ่าของน้ำใต้ดินต่อสภาพแวดล้อมของมหาสมุทร
อย่างไรก็ตาม ที่ด้านใต้ของเส้นทางเรือยอดนิยม ที่เชื่อมระหว่างทะเลจีนใต้กับอ่าวเทยาบาส ใกล้ๆ แนวปะการังที่เต็มไปด้วย พวกเขากลับค้นพบน้ำพุคาร์บอนไดออกไซด์ใต้ทะเลแห่งหนึ่ง ที่มีความแปลกไม่เหมือนใครเข้าแทน
พวกเขา ตั้งชื่อให้น้ำพุคาร์บอนไดออกไซด์ที่พวกเขาพบว่า “โซดาสปริง” จากรูปลักษณะของฟองที่มันปล่อยออกมา โดยพวกเขาค้นพบไม่นานหลังจากนั้นว่า โซดาสปริงนั้นเกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซและน้ำที่เป็นกรดผ่านรอยแตกในพื้นมหาสมุทรจากภูเขาไฟใต้น้ำ และอาจจะเป็นแบบนี้ต่อไปได้อีกนานเป็นร้อยเป็นพันปี
อ้างอิงจากข้อมูลการค้นพบ รอบโซดาสปริงนั้นมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 95,000 ppm ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศถึง 200 เท่า (แม้ว่ามันจะลดลงเหลือราวๆ 400-600 ppm เมื่อฟองเริ่มกระจายออกไปก็ตาม)
เท่านั้นยังไม่พอ โซดาสปริงยังมีความเป็นกรดสูงมากพอที่จะลดค่า pH ของแนวชายฝั่งใกล้เคียงได้ และมีการปล่อย เรดอน-222 ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีอีกด้วย
ลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว ที่แห่งนี้จัดเป็นสถานที่ในฝันของการศึกษาว่าแนวปะการังจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (อย่างในกรณีที่ที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น) ได้อย่างไรเลย
ถึงอย่างนั้นก็ตาม สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจกันมากที่สุดเกี่ยวกับการค้นพบในครั้งนี้ คือโซดาสปริงนั้นถูกพบในจุดที่น้ำใต้ดินถูกปล่อยลงสู่ทะเลต่างหาก แถมปริมาณส่วนต่างของน้ำทะเลและน้ำใต้ดินก็จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละจุดรอบๆ พื้นที่ด้วย
ความเป็นจริงนี้ แสดงให้เห็นว่าน้ำจากใต้ดินนี้อาจมีผลกระทบต่อการวิวัฒนาการและการทำงานของระบบนิเวศได้แม้แต่ในท้องทะเล
วิดีโอการค้นพบโซดาสปริงจาก The University of Texas Jackson School of Geosciences
นี่ถือว่าไม่ใช่ข่าวที่ดีเท่าไหร่เพราะมันยังหมายความว่ามลพิษจากเกาะอาจสามารถไหลมาสู่แนวปะการังได้ เนื่องจากคนบนเกาะยังคงใช้ระบบถังบำบัดน้ำเสีย และระบบดังกล่าวก็อาจจะทำให้ของเสียทะลักสู่น้ำใต้ดินนั่นเอง
ในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าการค้นพบโซดาสปริงในครั้งนี้จะนำมาซึ่งเรื่องที่เรายังไม่ทราบเป็นจำนวนมาก แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพของท้องทะเลที่ราวกับเป็นน้ำอัดลมนั้น มันช่างดูแปลกตาและมีเสน่ห์ในแบบของมันจริงๆ
ที่มา onlinelibrary, livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น