CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์เปลี่ยนกะพรุนเป็นไซบอร์ก ว่ายน้ำเร็วขึ้น 300% แต่ประหยัดพลังกว่าหุ่นยนต์พันเท่า

แมงกะพรุนนับว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่น่าสนใจที่สุดของท้องทะเลเลยก็ว่าได้ เพราะมันไม่เพียงแต่จะมีชีวิตที่ไม่มีวันแก่ตายเท่านั้น  แต่มันยังมีการว่ายน้ำที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในท้องทะเลอีกด้วย แม้ว่าการว่ายน้ำของแมงกะพรุนนั้น จะถือว่าว่าค่อนข้างช้าก็ตาม

 

 

ดังนั้นเพื่อที่จะทดลองแก้ปัญหาดังกล่าว เมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จึงได้ทำการทดลองสุดแปลก ด้วยการติดอุปกรณ์ขนาดเล็กให้กับแมงกะพรุน เปลี่ยนมันเป็นกะพรุนไซบอร์ก ที่ว่ายน้ำเร็วขึ้น ในขณะที่ใช้พลังงานน้อยกว่าหุ่นยนต์ว่ายน้ำอื่นๆ ที่เราเคยคิดค้นมา ตั้งแต่ 10 ถึง 1,000 เท่า

อ้างอิงจากข้อมูลการวิจัย นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสร้างกะพรุนไซบอร์กที่ว่านี้ขึ้น โดยอาศัยแมงกะพรุนจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Cabrillo Marine ในซานเปโดร แคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะทำการฝัง คอนโทรลเลอร์กันน้ำ แบตเตอรี่ ไมโครโพรเซสเซอร์ และขั้วไฟฟ้า ลงในกล้ามเนื้อของมัน

 

 

เมื่ออุปกรณ์ชุดนี้ทำงาน มันจะส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เข้าไปกระตุ้นกล้ามเนื้อของแมงกะพรุนที่ถูกติดตั้งอุปกรณ์เอาไว้ ซึ่งจะส่งผลให้มันว่ายน้ำเร็วขึ้น ซึ่งจากการทดลองแมงกะพรุนจะว่ายน้ำเร็วขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับแมงกะพรุนปกติ

นี่อาจจะเป็นการทดลองที่ฟังดูโหดร้ายอยู่บ้าง แต่ทีมวิจัยก็ยืนยันว่าแมงกะพรุนนั้น ไม่มีทั้งสมองและอวัยวะรับความเจ็บปวด แถมปริมาณไฟฟ้าที่พวกเขาใช้ก็ไม่ได้เป็นอันตรายกับตัวกะพรุนด้วย

 

 

ดังนั้นแมงกะพรุนไซบอร์ก อาจจะกลายเป็นสัตว์อีกตัวหนึ่งที่ค่อนข้างเหมาะสมในการนำมาใช้ตรวจสอบมหาสมุทรหรือการเก็บตัวอย่างใต้น้ำในอนาคตเลยก็เป็นได้ เนื่องจากแมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่จะสามารถเอาชีวิตรอดในทะเลเองได้ และการปล่อยกระแสไฟฟ้าปริมาณน้อยนี้เองก็จะสามารถทำให้แบตเตอรี่อยู่คงสภาพอยู่ได้เป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตามทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ระบุไว้ด้วยว่าในปัจจุบันพวกเขายังคงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหาวิธีการควบคุมกะพรุนไซบอร์กเหล่านี้ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น กว่าที่แมงกะพรุนไซบอร์กจะสามารถนำไปใช้งานจริงได้ มันก็คงจะต้องใช้เวลาอีกนานเลย

 

 

ส่วนเรื่องชะตากรรมของเจ้ากะพรุนที่ถูกนำไปใช้ในการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยก็ยืนยันว่าพวกมันยังสบายดี และสามารถรักษาบาดแผลที่เกิดจากการติดตั้งเครื่องในเวลาไม่นานหลังจากที่อุปกรณ์ถูกถอดออกไป

 

ที่มา cnet, scientificamerican, gizmodo และ sciencemag


Tags:

Comments

ใส่ความเห็น