CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิจัยพบ กระรอกบางตัวมีมือข้างที่ถนัดเป็นพิเศษ และมันก็ส่งผลต่อการเรียนรู้ด้วย

มันเป็นเรื่องที่เราทราบกันว่ามนุษย์มักจะมีมือข้างหนึ่งที่สามารถใช้ได้อย่างถนัดกว่าอีกข้าง แต่เชื่อหรือไม่ว่าในโลกของสัตว์อย่าง “กระรอก” เอง พวกมันก็มีมือ (หรือขาหน้า) ข้างที่พวกมันถนัดมากกว่าอีกข้างเช่นกัน

 

 

แต่ต่างจากมนุษย์ ซึ่งเราเชื่อกันว่าการที่มีมือข้างที่ถนัดจะทำให้สมองของเราทำงานได้อย่าง “มีประสิทธิภาพ” มากขึ้น การที่กระรอกมีมือข้างที่ถนัดนั้น ดูเหมือนว่าจะทำให้การเรียนรู้ของมันแย่ลงเสียมากกว่านี่สิ

อ้างอิงจากคุณ Lisa Leaver ผู้อำนวยการหลักสูตรพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ผู้เขียนหลักของงานวิจัย พวกเธอค้นพบความจริงด้านบนนี้ มาจากการสังเกตการณ์พฤติกรรมของกระรอกสีเทาป่าจำนวน 30 ตัว หลังจากที่พวกมันได้รับหลอดโปร่งใสที่มีถั่วใส่อยู่ข้างใน

หลอดดังกล่าวนี้ ออกแบบมาเล็กและยาวกว่าที่กระรอกจะหยิบถั่วออกมาได้ด้วยปาก ดังนั้นพวกมันจึงจำเป็นที่จะต้องใช้มือข้างใดข้างหนึ่งหยิบถั่วออกมา ซึ่งในจุดนี้นักวิทยาศาสตร์จะเก็บข้อมูลเพื่อคำนวณว่ากระรอกในการทดลองถนัดมือด้านไหนบ้าง

 

วิดีโอการทดลองจาก BBC Science Focus Magazine

 

 

ในบรรดากระรอก 30 ตัวนั้น มีกระรอกอยู่ 12 ตัวที่นักวิจัยสามารถเก็บข้อมูลได้มากพอที่จะใช้ในการวิจัย โดยพวกเขาพบว่าเช่นเดียวกับคน กระรอกจะบางส่วนจะมีความถนัดร่างกายซีกใดซีกหนึ่งมากกว่าอีกด้าน ในขณะที่กระรอกอีกกลุ่มจะสามารถใช้มือได้อย่างถนัดทั้งสองข้าง

แต่เมื่อการทดลองดำเนินไป นักวิทยาศาสตร์กลับพบกับเรื่องที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือในการทดลองนี้ กระรอกที่ถนัดมือข้างซ้ายหรือขวาเพียงข้างเดียว จะประสบความสำเร็จในการหยิบถั่วน้อยกว่ากระรอกที่ใช้มือได้อย่างถนัดทั้งสองข้างอย่างเห็นได้ชัด

“พวกมันไม่สามารถเรียนรู้ได้เร็วและครอบคลุมเท่ากระรอกที่ถนัดทั้งสองมือ” คุณ Lisa กล่าว ซึ่งมันถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เนื่องจากในสัตว์อย่างปลาหรือนกนั้น ที่ผ่านๆ มาเรามีหลักฐานว่าการถนัดข้างใดข้างหนึ่งมากๆ จะมีผลที่ดีต่อการทำงานของสมองสัตว์เหล่านั้น

 

 

นี่อาจจะเป็นงานวิจัยที่สร้างความแปลกใจให้กับหลายๆ คนไม่น้อยที่ความถนัดข้างใดข้างหนึ่งจะส่งผลที่ไม่ดีเช่นนี้ ถึงอย่างนั้นก็ตามนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกเช่นกันที่เราพบว่าความถนัดข้างใดข้างหนึ่งเป็นพิเศษจะส่งผลในแง่ลบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์

ดังนั้นเราคงต้องบอกว่าเรื่องราวของความถนัดซ้าย-ขวากับความสามารถของสมองนั้น แม้ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าที่เราคิดอยู่ดี และเราก็คงยังต้องมีการวิจัยอีกไม่น้อยเลยกว่าที่จะสามารถทำความเข้าใจความซับซ้อนดังกล่าวได้ อย่างสมบูรณ์

 

 

ที่มา metro, sciencefocus และ thesun


Tags:

Comments

ใส่ความเห็น