แม้ว่าจะแทบไม่เหลือเค้าเดิมแล้วก็ตาม แต่ทะเลทราย Tatacoa ของโคลอมเบีย และพื้นที่บริเวณเมือง อุรุมะโจของเวเนซุเอลานั้น ในอดีตเคยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่มาก่อน
และในที่แห่งนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบฟอสซิลของเต่าขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนโลกตั้งแต่เมื่อราวๆ 13-7 ล้านปีก่อน
เต่าที่กล่าวมานี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Stupendemys geographicus” โดยมันเป็นเต่ายักษ์ที่มีขนาดตัวได้ถึง 4 เมตร หนักได้กว่า 1 ตัน เรียกได้ว่าว่าเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกเท่าที่มนุษย์เคยพบมาเลย (อันดับหนึ่งเป็นของ Archelon เต่าที่อาศัยในยุคไดโนเสาร์)
Stupendemys geographicus ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ในช่วงปี 1970 โดยในเวลานั้นมันถูกระบุว่าเป็นเต่าที่เคยอาศัยอยู่อย่างแพร่หลายในตอนบนของทวีปอเมริกาใต้ อย่างไรก็ตามกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะได้วิจัยเต่าดังกล่าวแบบจริงๆ จังๆ มันก็เมื่อไม่นานมานี้เท่านั้น
อ้างอิงจากรายงานการค้นพบ เต่าตัวนี้ มีขนาดใหญ่กว่าเต่าสายพันธุ์ใกล้เคียงกันในปัจจุบันเกือบๆ 100 เท่า โดยนอกจากขนาดตัวโดยรวมที่ใหญ่โตสุดๆ ของมันแล้ว เต่าตัวนี้ยังมีจุดเด่นอยู่ที่กระดองของมันด้วย
นั่นเพราะกระดองของ Stupendemys ที่นักวิทยาศาสตร์เคยพบมานั้น มีขนาดใหญ่ได้ถึง 2.86 เมตร ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกระดองเต่าที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยพบมาในปัจจุบัน ใหญ่ยิ่งกว่าเต่า Archelon ที่มีขนาดตัวโดยรวมใหญ่ที่สุดในโลกเสียอีก
คุณ Edwin Cadena ผู้นำงานวิจัยเต่าตัวนี้ อธิบายว่า “Stupendemys นั้นมีอาหารที่หลากหลาย มันกินได้ทั้งสัตว์เล็กๆ อย่างปลา หอยหรืองู และพืชพรรณที่ขึ้นในแถบแหล่งน้ำอย่างผลไม้ และเมล็ดต่างๆ”
เมื่อรวมเอาการทานอาหารเข้ากับลักษณะอื่นๆ ของ Stupendemys ทีมนักวิจัยก็คาดว่าเต่าที่พบน่าจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ใต้แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ เช่นทะเลสาบหรือไม่ก็แม่น้ำมาก่อน ซึ่งทำให้มันมีลักษณะที่อยู่อาศัยแบบเดียวกับจระเข้โบราณแบบพอดิบพอดี
ดังนั้น มันจึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงเลยที่เต่าสายพันธุ์นี้ จะวิวัฒนาการขนาดตัวและกระดองของมันออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากนักล่าเหล่านี้ อ้างอิงได้จากการที่หนึ่งในกระดองของ Stupendemys ที่นักวิทยาศาสตร์พบ ยังคงมีฟันจระเข้ขนาด 5 เซนติเมตรฝังค้างอยู่อย่างเห็นได้ชัดเลยนั่นเอง
ที่มา theguardian, foxnews
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น