CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ย้อนรอย “เหตุการณ์ที่เทย์กิน” การปล้นธนาคารที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุดของญี่ปุ่น

เพื่อนๆ เคยได้ยินเรื่องราวที่ชื่อ “เหตุการณ์ที่เทย์กิน” กันมาก่อนไหม? นี่คือเหตุการณ์การปล้นธนาคารในอดีตของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายรุนแรงมากที่สุดของประเทศครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะนี่เป็นเหตุการณ์การปล้นธนาคาร ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 12 คน ทั้งๆ ที่มีผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียว และอาวุธที่ใช้ก็ไม่ใช่ปืนเสียด้วย

 

จุดเริ่มต้นของเรื่องราว

เหตุการณ์ที่เทย์กินนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1948 ไม่นานหลังจากที่ญี่ปุ่นฟ่ายแพ้จากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในเวลานั้น ประชาชนภายในประเทศกำลังค่อนข้างให้ความสนใจ เกี่ยวกับโรคภัยเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ในตอนที่มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในธนาคาร “เทย์โคคุ กินโค” ในโตเกียว แสดงตัวด้วยนามบัตรและปลอกแขนว่าเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งมาทำการแจกวัคซีนแบบหยอด เนื่องจากการระบาดของโรคบิด คนในธนาคารจึงเชื่อเขาแบบสนิทใจ และเข้าแถวมารับวัคซีนกันอย่างพร้อมหน้า

ในเวลานั้น ในธนาคารมีคนอยู่ราวๆ 16 คน และทั้งหมดได้รับยาเม็ดพร้อมๆ กับวัคซีนกันไปคนละหยดสองหยด โดยที่ไม่มีใครทราบเลยว่า สิ่งที่อยู่ใน “วัคซีน” นั้น แท้จริงแล้ว จะเป็นยาพิษอย่างไซยาไนด์ต่างหาก

แน่นอนว่าด้วยความที่ว่าสารพิษอย่างไซยาไนด์ เป็นอะไรที่ออกฤกษ์ค่อนข้างเร็ว ไม่นานหลังจากที่คนในธนาคารได้รับยาไป พวกเขาจึงค่อยๆ ล้มลงไปด้วยความเจ็บปวด ปล่อยให้คนร้ายเชิดเงินออกจากธนาคารไป

 

ธนาคาร “เทย์โคคุ กินโค” ที่เกิดเหตุ

 

การสืบสวน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตในภายหลังทั้งสิ้น 12 ราย ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กอยู่ด้วย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มทำการสืบสวนคดีนี้อย่างรวดเร็ว และก็เป็นโชคดีมากที่ทางตำรวจพบนามบัตรของคนร้ายถูกทิ้งไว้ในธนาคารด้วย

ชื่อที่อยู่บนนามบัตรของคนร้ายในเวลานั้นคือ “มาซุอิ ชิเกรุ” ซึ่งทางตำรวจพบว่ามีตัวตนอยู่ และเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจริงๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ชายคนนี้มีพยานจำนวนมากในตอนที่เกิดเหตุ และทางตำรวจก็เข้าใจดีว่าคนร้ายคงจะไม่ใช้นามบัตรของตัวเองจริงๆ

นี่น่าสนใจคือการไปสอบปากคำคุณชิเกรุทำให้ทางตำรวจทราบว่าเขานั้นมีการแลกนามบัตรกับคนทั้งหมด 593 ราย (คาดว่าคำนวณจากนามบัตรที่พิมพ์มาและนามบัตรที่เหลือ) ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ต้องสงสัยที่เป็นไปได้ก็ถูกบีบลงมาเหลือแค่ 8 คน

 

ภาพสเก็ตใบหน้าผู้ต้องสงสัย ที่ในภายหลังถูกบอกว่าไม่ได้เหมือนคนร้ายที่จับได้เลย

 

การจับคนร้าย

ในบรรดาผู้ต้องสงสัย 8 คนที่เหลืออยู่นั้น ยังมีจิตรกรที่ชื่อว่า “ซาดามิจิ ฮิราซาวะ” อยู่ด้วย โดยเมื่อเขาถูกทางตำรวจสอบปากคำและขอให้โชว์นามบัตรที่ได้ไปจากคุณชิเกรุ จิตรกรคนนี้กลับไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเจ้าตัว (อ้างว่า) ถูกขโมยกระเป๋าสตางค์ไปก่อนหน้า

เท่านั้นยังไม่พอ จากประวัติของนายฮิราซาวะ ทางตำรวจยังพบว่าเขามีประวัติฉ้อโกงธนาคารมาก่อนถึง 4 ครั้ง ในช่วงที่เกิดเหตุยังไม่มีพยานยืนยันที่อยู่ แถมเจ้าตัวยังมีเงินที่ไม่ยอมระบุที่มาอยู่ในครอบครองอีกเป็นจำนวนมากด้วย

ดังนั้นในตอนที่พยานในที่เกิดเหตุยืนยันกับทางตำรวจว่าเขาเป็นผู้วางยาพิษในวันนั้นจริงๆ นายฮิราซาวะจึงถูกจับกุมเข้าสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งในเวลาต่อมา เจ้าตัวก็สารภาพว่าต้นเองเป็นคนปล้นธนาคารเอง

 

นายซาดามิจิ ฮิราซาวะ ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุม

 

ปิดคดี?

ในปี 1950 นายฮิราซาวะถูกตั้งข้อหาโจรกรรม และฆาตกรรมคน 12 ชีวิต ซึ่งมีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

แต่นั่นกลับไม่ใช่จุดจบของคดีในครั้งนี้อย่างที่หลายๆ คนคิด เพราะในระหว่างที่นายฮิราซาวะกำลังนั่งรอความตายอยู่ในห้องขัง ได้มีกลุ่มคนอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งเริ่มสงสัยว่าจิตรกรคนนี้เป็นฆาตกรจริงๆ เช่นนั้นหรือ เนื่องจากในเวลาต่อมาได้มีการออกมาเปิดเผยว่าในขั้นตอนการสอบสวน นายฮิราซาวะนั้นยอมสารภาพเนื่องจากถูกใช้ความรุนแรง

เท่านั้นยังไม่พอพยานในที่เกิดเหตุที่ยืนยันกับทางตำรวจว่านายฮิราซาวะเป็นคนร้ายนั้น แท้จริงแล้วก็มีแค่สองรายเสียด้วย

ดังนั้นในประเทศจึงเริ่มมีข่าวลือเกิดขึ้นว่าการจับกุมในครั้งนี้เป็นการจับแพะ นายฮิราซาวะอาจจะถูกขโมยกระเป๋าสตางค์จริงๆ และเงินจำนวนมากที่เขามี ก็อาจจะมาจากการขายภาพโป๊เปลือย ทำให้เจ้าตัวไม่ยอมบอกที่มาเนื่องจากเจ้าตัวกลัวเสียชื่อเสียง

ที่สำคัญจิตรกรอย่างฮิราซาวะ จะไปเอายาพิษไซยาไนด์ ซึ่งในภายหลังถูกสืบทราบว่าเป็นของระดับกองทัพมาจากไหน?

ความเป็นไปได้ในการจับคนผิด และความจริงเกี่ยวกับยาพิษไซยาไนด์ทำให้มีประชาชนไม่น้อยที่ตั้งข้อสงสัยว่าคนร้ายตัวจริงของคดีนี้ อาจจะเป็นอดีตสมาชิกของหน่วย 731 หน่วยงานลับของญี่ปุ่นในสงครามโลกซึ่งรับหน้าที่พัฒนาอาวุธชีวภาพ หรือไม่ก็ใครสักคนในหมู่ผู้ต้องสงสัยอีก 7 คนที่เหลือ

 

หนึ่งในภาพถ่ายที่คนนึกถึงที่สุด เมื่อกล่าวถึงหน่วย 731

 

เรื่องราวหลังจากนั้น

แน่นอนว่าทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนแต่ไม่มีชิ้นไหน ที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน ดังนั้นการปล่อยตัวของนายฮิราซาวะจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มากพอที่จะทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหลายรุ่นไม่ลงนามประหารเขา

ดังนั้นฮิราซาวะจึงถูกขังอยู่ในคุกแบบนั้นเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 32 ปี จนกระทั่งในที่สุดเจ้าตัวก็เสียชีวิตไปด้วยโรคร้ายภาคในโรงพยาบาลที่คุมขัง และคดีการปล้นธนาคารสุดโหดครั้งนี้เอง ก็ยังคงเป็นคดีที่มีการถกเถียงกันในประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

 

“米寿” ภาพวาดตัวเองของฮิราซาวะ ซึ่งในเวลานั้นอายุได้ 88 ปี

 

รวบรวมและเรียบเรียงโดย เหมียวศรัทธา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก japantimes, murderpedia, easterwood และ Kento Bento


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น