ย้อนกลับไปเมื่อ 66 ล้านปีก่อน โลกได้ถูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชน จนเกิดเป็นเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์ที่เคยเป็นเจ้าแห่งโลกอย่างไดโนเสาร์ และเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปตลอดกาล
และแล้วเมื่อเวลาผ่านเลยไปหลายล้านปี หลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันแห่งโชคชะตาวันนั้นก็ได้รับการค้นพบซ้ำอีกครั้ง
เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยา ได้เข้าทำการตรวจสอบหลุมอุกกาบาตมีชื่ออย่าง “แอ่งอุกกาบาตชิกชูลูบ” (หรือแอ่งธรณีชิกชูลูบ) หลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ใต้คาบสมุทรยูคาทานของประเทศเม็กซิโก
ที่นั่นพวกเขาได้ทำการตรวจสอบแกนหินที่เก็บมา พบทั้งร่องรอยของการเกิดเนินเขา สึนามิ ไฟไหม้ และก๊าซที่สามารถเปลี่ยนสภาพบรรยากาศโลก ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวมาเกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ เพียงแค่หนึ่งวันหลังจากที่อุกกาบาตชนโลกเท่านั้น
คุณ Sean Guelick จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวเกี่ยวกับการค้นพบไว้ว่า…
“มันเป็นอะไรที่ยากมากในทางธรณีวิทยา ที่เราจะได้มีโอกาสตรวจสอบหินและสามารถอ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ในระดับเวลาเป็นชั่วโมง”
อ้างอิงจากการทับถมของชั้นดิน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นเริ่มต้นจากอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนเข้าใส่ทะเลที่ตื้นในระดับความลึกไม่ถึง 30 เมตร
ทำให้เกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่มีขอบหินล้มออกไปด้านนอกคล้ายเนินเขารูปวงแหวน ก่อนที่ตัวเนินดังกล่าวจะถูกหินซึ่งถูกความร้อนและแรงดันสูงซึ่งเรียกกันว่า “Shocked Rock” ทับถมลงไปอีกที
แรงกระแทกของอุกกาบาตนั้นทำให้น้ำทะเลรอบๆ ซัดเข้าชายฝั่งในสภาพของคลื่นยักษ์ ก่อนที่ตัวคลื่นจะไหลกลับมายังหลุมอุกกาบาตพร้อมกับแร่ธาตุต่างๆ ที่เซาะมาจากแผ่นดิน ซึ่งเป็นเหตุผลให้ในแกนหินที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบมีร่องรอยของอนุภาคดินบนบกและถ่านหลงเหลืออยู่
นอกจากนี้การพบอนุภาคถ่านในแกนหินยังเป็นหลักฐานอย่างดีว่าการที่อุกกาบาตตกลงมานั้นจะต้องส่งผลให้เกิดไฟป่าขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกอะไรสำหรับอุกกาบาตที่มีพลังงานมากพอกับระเบิดปรมาณูที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่สองจำนวนหมื่นล้านลูก
ทว่าความรุนแรงของการพุ่งชนนั้นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่อุกกาบาตลูกนี้ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแต่อย่างไร…
เพราะในแกนหินที่พวกเขาพบนั้น ขาดสิ่งที่ควรจะมีอย่างกำมะถัน ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าอาจจะเกิดจากแรงกระแทกของอุกกาบาต ทำให้กำมะถันถูกดันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในรูปแบบก๊าซก็เป็นไปได้
หากเป็นเช่นนั้นจริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ก๊าซและโมเลกุลอื่นๆ จากแรงกระแทกจะมีปริมาณมากพอที่จะบทบังท้องฟ้า และทำให้โลกในสมัยนั้นตกอยู่ในความมืดมิดและมีอากาศหนาวเย็น
H. Jay Melosh ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเพอร์ดูกล่าว “มันเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญมากในการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกเลย” พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับเรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้รับรู้จากการตรวจสอบแกนหินเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น
ดังนั้น การตรวจสอบแกนหินเหล่านี้เพิ่มเติมจึงยังมีโอกาสสูงมากที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ที่ทำลายชีวิตกว่าครึ่งของโลกต่อไปในอนาคต
ที่มา gizmodo, sciencedaily และ smithsonianmag
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น