ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น มีตำนานเรื่องเล่าที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือในพื้นที่เกาะที่ไหนสักแห่งในประเทศแห่งนี้ มีสมบัติทองคำถูกฝังเอาไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนายพลของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่ายามาชิตะ โทโมยูกิ
เรื่องเล่าในเวลานั้น ถูกทำให้โด่งดังยิ่งขึ้นจากการที่มีนักขุดสมบัติหลายๆ คนออกมาอ้างว่าพบทองจริงๆ ทำให้ตั้งแต่ในอดีตเป็นต้นมา จึงมีนักล่าสมบัติมากมายที่เดินทางไปยังหมู่บ้านห่างไกลในฟิลิปปินส์ เพื่อที่จะตามหาสมบัติของยามาชิตะ แม้ว่าตามประวัติศาสตร์แล้ว จะไม่มีบันทึกใดๆ เลยที่ระบุว่ายามาชิตะมีการนำทองมาฝังที่ฟิลิปปินส์จริงๆ
นี่อาจจะฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่สักเท่าไหร่สำหรับคนในพื้นที่ เพราะมันน่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำเพราะการมีข่าวลือเรื่องสมบัติเช่นนี้ ตามปกติแล้วน่าจะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในปัจจุบันข่าวลือเกี่ยวกับสมบัตินี้กลับกำลังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านมากกว่าที่เราคิด
ยามาชิตะ โทโมยูกิ ต้นตอของตำนานทองในฟิลิปปินส์
นั่นเพราะในปัจจุบัน มีหมู่บ้านห่างไกล บนเกาะในฟิลิปปินส์จำนวนมาก (โดยเฉพาะที่เกาะปาไนย์) ซึ่งเริ่มออกมาร้องเรียนแล้วว่า การเข้ามาขุดดินในพื้นที่ของนักล่าสมบัตินั้น เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมาก จนอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงของเหตุการณ์ภัยธรรมชาติได้เลย
อ้างอิงจากชาวบ้านในพื้นที่ Igbaras ของจังหวัดอีโลอีโล ในหมู่บ้านของเขามีนักล่าสมบัติอย่างน้อยๆ 10 คนที่เขามาทำการขุดหาสมบัติ โดยพวกเขาทำการค้นหาดังกล่าวมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีแล้ว และกินพื้นที่ค้นหาไปกว่า 1,000 ตารางเมตร
บรรยากาศริมหาดที่เกาะปาไนย์
แน่นอนว่าการค้นหาแบบนี้สร้างความไม่สบายใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กลับบอกว่านักล่าสมบัติเหล่านี้ได้รับอนุญาตจากทางการในกรุงมนิลาแล้ว และจะทำการขุดต่อไปอีกนาน ดังนั้นชาวบ้านจึงจำเป็นที่จะต้องรวมตัวออกมาเรียกร้องอย่างที่เห็น
โดยทางชาวบ้าน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป มันจะมี “ความเสี่ยงสูงมาก” ที่การขุดค้นในครั้งนี้จะทำให้เกิดเหตุดินถล่มในพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ที่อยู่อาศัยอย่างน้อยๆ 9 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบรุนแรงได้
การพบปะระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้เองในปัจจุบันคุณ Jaime Esmeralda นายกเทศมนตรีเมือง Igbaras ได้ออกมาบอกว่าทางเจ้าหน้าที่ของเขาไม่เคยมอบใบอนุญาตสำหรับการล่าสมบัติหรือขุดค้นหาในพื้นที่ให้กับใครอย่างที่ได้รับรายงานมาเป็นแน่
และในปัจจุบันเขาก็ได้ติดต่อไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของฟิลิปปินส์ในกรุงมนิลา เพื่อตรวจสอบแล้วว่า นักล่าสมบัติที่สร้างความเดือดร้อนในครั้งนี้ มีใบอนุญาตสำหรับการล่าสมบัติจริงๆ หรือไม่
ที่มา livescience และ pna
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น