มันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปัจจุบันเราจะสามารถเป็นสัตว์สักประเภทเดินต่อหลังกันเป็นแถว อย่างไรก็ตามหากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 480 ล้านปีก่อน มันคงไม่ใช่อะไรที่เรียกว่าธรรมดาอีกต่อไป
ที่เมืองมาร์ราคิชประเทศโมร็อกโกทีมนักบรรพชีวินวิทยาได้ทำการค้นพบหลักฐานชุดใหม่ของ ไทรโลไบต์ (Trilobite) สัตว์ดึกดำบรรพ์ ลักษณะคล้ายแมงดาทะเล ซึ่งถูกฝังเป็นฟอสซิลในสภาพที่เดินต่อแถวกันราวกับกำลังเล่นรีรีข้าวสาร
“ฉันคิดว่าผู้คนคงเชื่อว่าพฤติกรรมที่ทำเป็นกลุ่มแบบนี้ เป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ในขั้นตอนการวิวัฒนาการ แต่จริงๆ แล้วพฤติกรรมที่ซับซ้อนนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิดมาก”
Jean Vannier นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยลียง กล่าวว่าไทรโลไบต์ที่ถูกพบในครั้งนี้อยู่ในสายพันธุ์ Ampx priscus ซึ่งเคยอาศัยอยู่ใต้พื้นทะเลในพื้นที่โมร็อกโกในอดีต
ก่อนที่จะถูกฝังจนตายเพราะตะกอนใต้ทะเลถล่ม และมีลักษณะเด่นอยู่ที่หนามเรียวยาวบนตัวและมีลักษณะตาบอดสนิท
เราไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับสัตว์ในตระกูลไทรโลไบต์ แต่จากหลักฐานที่ปรากฎออกมาก็ชี้ให้เห็นว่าพวกมันน่าจะมีพฤติกรรมในการไปไหนมาไหนเป็นกลุ่ม
โดยเป็นไปได้ว่ามันจะอาศัยการคาดการณ์จากสัมผัสของหนามไทรโลไบต์ตัวด้านหน้า เพื่อเดินตามกันเป็นแถวโดยที่ไม่จำเป็นต้องมองในระหว่างการรวมตัว
พฤติกรรมเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการลอกคราบ หรือไม่ก็การผสมพันธุ์ของไทรโลไบต์
ทำให้ฟอสซิลที่พบกลายเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการต่อแถวที่หันหน้าไปทางเดียวกันเช่นนี้ ไม่มีทางเกิดขึ้นเพียงเพราะร่างของพวกมันลอยมาติดกันหลังจากที่พวกมันตายเป็นแน่
เท่านั้นยังไม่พอ การกระทำเช่นนี้ยังไม่ได้ถูกพบแค่ในประเทศโมร็อกโกเสียด้วย เพราะในฝรั่งเศสเอง นักบรรพชีวินก็มีร่องรอยว่าไทรโลไบต์สายพันธุ์นี้มีการต่อแถวในรูปแบบเดียวกัน แม้ว่าหลักฐานที่ฝรั่งเศสจะไม่ชัดเจนเท่าที่โมร็อกโกก็ตาม
“มันดูเหมือนว่า นี่จะเป็นพฤติกรรมปกติของสายพันธุ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนของโลก” คุณ Vannier กล่าว
ทั้งนี้เองแม้ว่าพฤติกรรมการต่อแถวของไทรโลไบต์ จะเป็นอะไรที่น่าสนใจเอามากๆ มันก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตโบราณเพียงประเภทเดียวที่มีการเคลื่อนที่เป็นกลุ่มแต่อย่างไร
นั่นเพราะเมื่อ 520 ล่านปีก่อนสิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายกุ้งอย่าง Synophalos ที่ถูกพบที่จีนเองก็มีร่องรอยการอพยพเป็นแถวในรูปแบบคล้ายๆ กัน
แถมเมื่อ 450 ล้านปีก่อนแมงดาทะเลก็มีการเรียงแถวริมหาดเพื่อผสมพันธุ์ไม่ต่างอะไรกับในปัจจุบันเลยเช่นกัน
ที่มา livescience, nature
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น