ย้อนกลับไปในช่วงเช้าของวันที่ 30 มิถุนายน 1908 ในพื้นที่ไซบีเรียของรัสเซีย ได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้น เมื่อชาวเมืองมีรายงานว่าพบเป็นลูกไฟพุ่งลงมาจากฟ้า ก่อนที่จะเกิดเสียงดังสนั่นขึ้น และส่งผลให้ต้นไม้กว่า 80 ล้านต้น ในพื้นที่ 2,150 ตารางกิโลเมตร ต้องล้มตายไปจากการตกกระทบของลูกไฟที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์ในครั้งนี้ ในเวลาต่อมารู้จักกันในชื่อ “การระเบิดที่ตุงกุสคา” โดยมันกลายเป็นเหตุการณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในการระเบิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่ถกเถียงกันมานานในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่าตกลงแล้วมันเกิดขึ้นจากอะไรกัน
แน่นอนว่าจากสถานการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ว่าใครก็คงคิดว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ น่าจะต้องเกิดขึ้นจากการปะทะของอุกกาบาต อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่การระเบิดครั้งนี้มีพลังจากเป็นพันเท่าของระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิม่า แต่นักวิทยาศาสตร์กลับสามารถค้นพบเศษอุกกาบาตในพื้นที่แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ซึ่งปริมาณที่ออกมานั้น ไม่ว่าจะดูอย่างไร ก็ไม่น่าจะพอที่จะทำให้เกิดการระเบิดแรงขนาดนี้แน่ๆ ดังนั้นแม้จะมีคำอธิบายจากหลายฝั่งอยู่บ้าง แต่การระเบิดที่ตุงกุสคา โดยรวมแล้วก็ยังคงจัดเป็นปริศนาที่ไม่มีใครไขได้อยู่ดี
แต่แล้ว เมื่อล่าสุดนี้เองหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปร่วม 112 ปี เราก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มที่ออกมาพยายามอธิบาย ปริศนาของการระเบิดที่ตุงกุสคาอีกครั้งจนได้ โดยในคราวนี้พวกเขามาพร้อมกับทฤษฎีสุดแหวกแนวที่ว่า
เหตุผลที่เราพบเศษอุกกาบาตในพื้นที่แค่เพียงเล็กน้อยจากการระเบิดในครั้งนี้ อาจจะมาจากความจริงที่ว่าในตอนที่เกิดการระเบิด ตัวอุกกาบาตได้ “บินกลับไปในอวกาศแล้ว” ก็เป็นได้
โดยอ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการระเบิดที่ตุงกุสคาว่า ในเวลานั้นน่าจะมีอุกกาบาตพุ่งเข้ามาใส่โลกจริงๆ อย่างที่คนในพื้นที่รายงาน
แต่แทนที่มันจะตกลงมาใส่โลกจนทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ อุกกาบาตที่น่าจะมีขนาด 200 x 100 x 50 เมตร ลูกนี้กลับเฉียดพื้นโลกไปด้วยความเร็วมหาศาลในระดับความสูงที่ค่อนข้างต่ำในชั้นบรรยากาศแทน
ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นก็มากพอที่จะทำให้อุกกาบาตเกิดการระเบิดออก จนแรงระเบิดทำลายต้นไม้ในพื้นที่ และผลักเส้นการโคจรของอุกกาบาตลูกนี้อีกครั้ง จนตัวอุกกาบาตปลิวกลับออกไปนอกโลก ทิ้งเศษอุกกาบาตขนาดจิ๋วให้โดนเผาไหม้ไปจนเกือบหมด จนเหลือเป็นร่องรอยที่นักวิทยาศาสตร์มาค้นพบในภายหลัง
แน่นอนว่าแนวคิดที่ออกมานี้อาจจะฟังดูเป็นทฤษฎีที่บ้าระห่ำและไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริงอยู่บ้าง แต่ด้วยทฤษฎีนี้นักวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถอธิบายข้อสงสัยทั้งที่ว่าทำไมการระเบิดที่ตุงกุสคาถึงไม่มีหลุมอุกกาบาต และอุกกาบาตที่ทำให้เกิดเรื่องในเวลานั้นหายไปไหนได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงผ่านขั้นตอนการพิชญพิจารณ์มาได้ไม่ยาก และผู้เชี่ยวชาญหลายคนเอง ก็คิดว่าทฤษฎีดังกล่าว จัดว่าเป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างดีเลย สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 112 ปีก่อน
แต่ทั้งนี้เอง ทีมนักวิจัยก็ได้ระบุไว้เช่นกันว่าทฤษฎีของพวกเขานั้นในปัจจุบันยังถือว่ามีข้อจำกัดอยู่ เพราะในปัจจุบันพวกเขาไม่ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลรูปแบบเคลื่อนกระแทกที่น่าจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้เลย ดังนั้นพวกเขาจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าการล้มของต้นไม้ในพื้นที่เป็นไปตามแรงกระแทกที่น่าจะเกิดขึ้นจริงๆ ไหม
ถึงอย่างนั้นก็ตาม นี่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในทฤษฎีที่น่าติดตามในปัจจุบันเลย และทีมนักวิจัยเองก็หวังเป็นอย่างมากว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้ทำการทดลองอื่นๆ เพื่ออุดช่องว่างบางช่องว่างของทฤษฎีชิ้นนี้ต่อไปในอนาคต
ที่มา sciencealert, academic และ express
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น