CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์ เผยทฤษฎีใหม่ ไขปริศนารูปสลัก “โมอาย” ชี้เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์

เรื่องราวเกี่ยวกับความลับของ รูปสลักหินขนาดยักษ์แห่งเกาะอีสเตอร์ หรือ “โมอาย” นั้น เป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าเราจะคาดเดากันได้ว่ารูปปั้นอันนี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยชาวเกาะอีสเตอร์เมื่อ 1,000 กว่าปีก่อนก็ตาม แต่กลับไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ากว่ารูปปั้นพวกนี้สร้างขึ้นเพื่ออะไรกันแน่

 

 

แน่นอนว่าความลับที่ไขไม่ออกในรูปแบบนี้ ย่อมทำให้มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ที่มีการคิดค้นทฤษฎีมาเพื่ออธิบายตัวตนของรูปปั้นหัวคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่ว่ารูปปั้นพวกนี้มีไว้บูชาเทพ หรือเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งน้ำที่ดื่มได้

และล่าสุดนี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ออกมานำเสนอทฤษฎีที่น่าสนใจของรูปสลักโมอายอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ พวกเขาได้บอกไว้ว่า

รูปปั้นโมอาย แท้จริงแล้วอาจจะเคยถูกใช้ในการทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ก็เป็นได้

 

 

นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปชิ้นนี้ มาจากการวิเคราะห์เหมืองหิน Rano Raraku บนเกาะอีสเตอร์ เป็นเวลายาวนานกว่า 5 ปี และพบว่า ที่แห่งนี้นอกจากจะเป็นที่สร้างรูปสลักโมอายบนเกาะกว่า 90% แล้ว มันยังเป็นสถานที่ที่มีดินที่ดีต่อการเพาะปลูกมากอย่างน่าประหลาด

“ที่นั่น มีสิ่งที่ฉันไม่เคยคิดว่าจะมีอย่างแคลเซียมและฟอสฟอรัส อยู่ในระดับสูง แถมการตรวจสอบทางเคมีของดินก็แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบปริมาณมากของธาตุที่เป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตของพืชด้วย” คุณ Sarah Sherwood นักโบราณคดีธรณีกล่าว

 

 

ความสมบูรณ์ที่มากมายขนาดนี้ ทำให้พื้นที่แห่งนี้ นอกจากจะถูกใช้เป็นเหมืองหินแล้ว มันจะถูกใช้งานในฐานะของแหล่งเกษตรกรรมไปด้วย อ้างอิงจากหลักฐานร่องรอยของการปลูกพืชอย่างกล้วย เผือก มันเทศ และใบหม่อน ที่ทีมวิจัยพบในพื้นที่

หลักฐานทั้งหมดที่พบทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมาว่าในอดีต การทำเหมืองอาจจะทำให้ดินจากชั้นหินใต้ดินของพื้นที่ซึ่งมีแร่ธาตุอยู่มาก ถูกขุดขึ้นมาบนหน้าดิน และทำให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นตามไปด้วย

 

 

ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนในสมัยก่อน จะเชื่อว่าหินของเหมืองแห่งนี้ มีอำนาจที่จะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น และเริ่มที่จะสลักหินในเหมืองเป็นรูปหน้าคน เพื่อให้มันเฝ้ามองดูแลความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ และในกรณีที่มีการขนดินในพื้นที่ไปยังที่อื่นๆ ในเกาะ พวกเขาก็จะนำโมอายตามไปด้วย

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า แนวคิดจะสามารถใช้อธิบายได้ว่าทำไมกันในเหมืองหินแห่งนี้จึงมีรูปปั้นโมอายอยู่มากกว่าแหล่งหินอื่นๆ บนเกาะ ทั้งๆ ที่ตามปกติรูปปั้นพวกนี้ก็น่าจะถูกขนย้ายออกไปจากแหล่งผลิตแล้ว

 

 

“การศึกษาครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดในอดีตของรูปปั้นโมอายในเหมืองหิน Rano Raraku โดยสิ้นเชิง” คุณ Anne Van Tilburg หนึ่งในทีมวิจัยชี้ “เราเคยคิดว่ารูปปั้นพวกนี้เพียงแค่อยู่ที่นี่เพื่อรอการขนส่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันอยู่ที่นี่เพื่อปกป้องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างหาก”

“โมอายเป็นศูนย์กลางของแนวคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ และในเกาะราปานูอี ตัวตนของพวกมันก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นการผลิตในทางการเกษตรเสียด้วย”

 

ที่ sciencealert, foxnews, phys, dailymail


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น