ในช่วงเวลาที่การกักตัวเริ่มดำเนินไปได้นานพอสมควรแล้วเช่นนี้ เชื่อว่าคงมีคนบางกลุ่มที่เริ่มคิดว่า มันอาจจะถึงเวลาแล้วไหมที่เราจะยกเลิกคำสั่งการเก็บตัวและให้ผู้คนกลับไปเดินทางได้ เพราะแนวคิดนี้ในปัจจุบันเริ่มที่จะเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักแล้วในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตามสำหรับนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพอร์ดูของสหรัฐอเมริกาแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมองว่าการเดินทาง โดยเฉพาะด้วยเครื่องบินนั้น ในปัจจุบันยังถือว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก และไม่ควรกระทำเป็นอย่างมากอยู่ดี
ดังนั้นเมื่อล่าสุดนี้เอง พวกเขาจึงได้ออกมาทำการเผยแพร่ ภาพจำลองการแพร่กระจายสุดน่ากลัวของเชื้อบนเครื่องบินภาพหนึ่ง เพื่อช่วยยืนยันว่าบนเครื่องบินนั้นเป็นสถานที่ที่ไวรัสแพร่กระจายได้ดีแค่ไหนเลย
ภาพจำลองที่เพื่อนๆ เห็นนี้ ถูกระบุไว้ว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2014 โดยจำลองขั้นจากเหตุการณ์ตอนเกิดโรคซาร์ส ซึ่งเคยเป็นที่หวาดกลัวของโลก ในช่วงปี 2002-2003 อีกที ซึ่งแม้ว่าข้อมูลในจุดนี้อาจจะทำให้หลายๆ คนมีข้อโต้แย้งขึ้นมาว่านี่ไม่ใช่ภาพจำลองโรคโควิด-19 โดยตรง
แต่ทางมหาวิทยาลัยเพอร์ดูก็ยังมีการยืนยันว่าโรคซาร์สนั้นเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสในกลุ่ม โคโรนาไวรัส เช่นเดียวกับโรคโควิด-19 ดังนั้นโรคทั้งสองจึงมีลักษณะที่คล้ายกันหลายอย่าง และตัวภาพจำลองที่เห็นเอง จริงๆ แล้วก็ใช้กับการแพร่กระจายของไวรัส หรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ได้ด้วย
อ้างอิงจากข้อมูลที่เห็นได้ในภาพจำลอง การจามของคนหนึ่งในเครื่องบิน Boeing 767 นั้น เรียกได้ว่าแทบจะแพร่กระจายไปสู่ผู้โดยสารอื่นๆ ทั้งเครื่องเลย และด้วยลักษณะความโค้งของตัวเครื่องก็จะทำให้ผู้โดยสารที่นั่งแถวเดียวกับผู้จามทั้งหมด (สีม่วงชมพูในภาพด้านบน) กลายเป็นผู้เสี่ยงติดโรคได้ไม่ยาก
ที่สำคัญคือความเสี่ยงที่กล่าวมานั้นยังไม่ได้คำนวณถึงความเป็นไปได้ที่ระบบระบายอากาศของเครื่องบินจะเป็นตัวแพร่เชื้อเสียเองเลยด้วย ซึ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพอร์ดูอย่างคุณ Qingyan Chen แล้ว ปัญหาในจุดนี้เป็นอะไรที่เรื้อรังในวงการเครื่องบินโดยสารมาเป็นเวลานานแล้ว
“เมื่อคุณสามารถขายเครื่องบินของคุณได้อย่างง่ายดาย คุณก็แค่พยายามที่จะชะลอปัญหาที่จะมาในอนาคต” คุณ Qingyan ผู้มีส่วนช่วยในโครงการวิจัยเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคบนเครื่องบินกว่า “และวันนี้เราก็พบว่า อนาคตที่ว่า ก็คือปี 2020 นี่ละ”
นับว่าเป็นโชคดีของพวกเรามากที่ดูเหมือนว่า แม้จะมีการทำงานไม่เร็วนักแต่ทีมนักวิทยาศาสตร์เองก็ใช่ว่าจะไม่ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินเลย เพราะอย่างล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเอง ก็กำลังทำการทดลองแสงอัลตราไวโอเลตแบบใหม่ที่จะฆ่าไวรัสได้โดยไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์อยู่
การทดลองใช้แสงอัลตราไวโอเลตฆ่าไวรัสของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ซึ่งหากพวกเขาทำการทดลองในครั้งนี้ได้สำเร็จ อุปกรณ์ดังกล่าวก็อาจจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในระบบป้องกันโรคของโรงพยาบาล โรงเรียน สนามบิน และแน่นอนว่าตัวเครื่องบินเองต่อไปได้เลย
แต่กว่าที่วันนั้นจะมาถึง มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดที่จะบอกว่า การเดินทางด้วยเครื่องบิน (โดยเฉพาะในปัจจุบัน) ยังคงถือว่าเป็นอะไรที่มีความเสี่ยงของโรคค่อนข้างสูงอยู่ดี
ที่มา foxnews, washingtonpost และ dailymail
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น