CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

พบไส้เดือนฝอย 8 ชนิดในทะเลสาบโมโน ทนสารหนูกว่าคน 500 เท่า และบางพันธุ์มี 3 เพศ

แม้ว่าจะไม่เค็มเท่าทะเลสาบเดดซี แต่ทะเลสาบน้ำเค็มอย่างทะเลสาบโมโนของแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งในทะเลสาบที่ได้ชื่อว่ามีความเข้มข้นของเกลือสูง และเจือไปด้วยสารหนู ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สิ่งมีชีวิตที่สามารถอาศัยอยู่ในทะเลสาบแห่งนี้ได้ จึงมีอยู่ค่อนข้างจำกัด

 

 

และในบรรดาสิ่งมีชีวิตของทะเลสาบโมโนนั้นเอง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการค้นพบไส้เดือนฝอยอาศัยอยู่ในน้ำที่เค็มจัดถึง 8 สายพันธุ์ และหนึ่งในไส้เดือนฝอยเหล่านั้น ก็มีอยู่สายพันธุ์หนึ่งที่มีอยู่ 3 เพศอีกด้วย

อ้างอิงจากข้อมูลการสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าไปสำรวจทะเลสาบโมโนในช่วงฤดูร้อนของปี 2016 และ 2017 โดยพวกเขาจะทำการเก็บตัวอย่างดินจากแหล่งน้ำในเขตน้ำขึ้นน้ำลงของทะเลสาบเพื่อความปลอดภัย และพบกับไส้เดือนฝอยที่มีรูปร่างของปากแตกต่างกัน 8 ชนิด ซึ่งทำให้พวกเขาแปลกใจเป็นอย่างมาก

 

 

นั่นเพราะในตอนที่เข้าไปสำรวจระบบนิเวศในทะเลสาบโมโน แม้ว่าพวกเขาพอจะทราบอยู่บ้างว่าที่แห่งนี้มีสิ่งมีชีวิตอย่างกุ้งน้ำเค็ม แมลงวันอัลคาไล แบคทีเรีย และสาหร่าย อาศัยอยู่ได้ แต่พวกเขาไม่คิดเลยว่าจะสามารถพบไส้เดือนฝอยในน้ำที่ทั้งเค็มและเจือสารหนูเช่นนี้

เมื่อการตรวจสอบไส้เดือนฝอยที่พบอย่างละเอียด นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าพวกมันสามารถทนทานต่อสารหนูได้มากกว่ามนุษย์ถึง 500 เท่า โดยพวกมันจะอาศัยปากที่หลากหลายของมันในการหาอาหารด้วยวิธีการแตกต่างกันไป เช่นการเกาะกินสารอาหารจากสัตว์อื่นแบบปรสิต หรือเล็มกินจุลินทรีย์ ในรูปแบบที่คล้ายกับวัวเล็มกินหญ้า

ในบรรดาการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ พวกเขายังได้ทำการเพาะพันธุ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ที่ชื่อ “Auanema” ในห้องทดลองด้วย ซึ่งก็เป็นในที่นั้นเองที่พวกเขาพบว่าไส้เดือนฝอยสายพันธุ์นี้ มีเพศที่แตกต่างกันไปถึง 3 แบบ แถมยังสามารถเลี้ยงตัวอ่อนในร่างกายของตัวเองได้ด้วย

 

 

เท่านั้นยังไม่พอเมื่อทำการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของพวกมัน นักวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่าหนอนเหล่านี้มีการกลายพันธุ์ของยีนชื่อ dbt-1 ซึ่งตามปกติเป็นยีนที่ย่อยกรดอะมิโนในโปรตีน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหลักที่พวกมันทนต่อสารหนูอย่างไม่น่าเชื่อก็เป็นได้

คุณ Pei-Yin Shih หนึ่งในทีมนักวิจัยคาดว่าการวิวัฒนาการสุดแปลกในจุดนี้อาจจะเกิดขึ้นเพื่อการเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย และออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการค้นพบในครั้งนี้ว่า

“งานวิจัยของพวกเรายังคงมีเรื่องให้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต 1,000 เซลล์ ซึ่งสามารถปรับตัวเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายเหล่านี้อีกมาก”

 

 

และไม่แน่เหมือนกันว่าการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตพวกนี้เอง ก็อาจจะนำมาซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยปกป้องมนุษย์จากสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย อย่างกรณีน้ำที่ปนเปือนสารหนูต่อไปในอนาคตก็เป็นได้

 

ที่มา livescience และ cell


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น