ตั้งแต่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงกับทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย
หลังจากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา และนักท่องเที่ยวชาวไทยก็ลดหายไปมาก ทำให้รายได้ของกลุ่มโรงแรมนั้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบหนักนี้ไปได้
หนึ่งในตัวอย่างเกาะพะงัน ที่แม้ว่าฝั่งท่องเที่ยวภาคอื่นๆ กำลังทยอยฟื้นตัว แต่สำหรับที่นี่กำลังย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง
แล้วเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น? เราจะพาคุณไปอ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘คุณวิภา’ เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะพะงัน
คุณวิภา เป็นเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะพะงัน ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอันคึกคักของภาคใต้ แต่กลับถูกโรคระบาดพรากรอยยิ้มไป

หากเทียบกับเขาใหญ่ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 3 ชั่วโมงนั้น เกาะพะงันซึ่งตั้งอยู่นอกฝั่งอ่าวไทยและใช้เวลาบินจากกรุงเทพฯ 1 ชั่วโมง กำลังเผชิญกับสภาพการณ์ที่ตรงกันข้าม…
คุณวิภาเปิดเผยว่าในช่วงวันหยุด 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2563 โรงแรมของเธอมีผู้เข้าพักเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นจากที่เคยบริหารโรงแรมมานานร่วมกว่า 30 ปี
“เรามีห้องพัก 124 ห้อง และพนักงานมากกว่า 90 คน แต่มีรายได้ตกเดือนละไม่ถึง 200,000 บาท ทุกเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม ลูกค้าของเราประมาณ 90% เป็นต่างชาติ”

เกาะพะงันเป็นที่รู้จักทั้งในกิจกรรม “ฟูลมูนปาร์ตี้” และชายหาดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้เกาะพะงันจึงเป็นสวรรค์เมืองร้อนของบรรดานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ด้วยค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักที่มีราคาสูง ทำให้ชาวไทยไม่นิยมมาเที่ยว
“โรคระบาดทำรายได้หายไป หวังว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ภายในสิ้นปีนี้ ไม่อย่างนั้นเราคงต้องปิดตัว” เจ้าของร้านกล่าวพร้อมรอยยิ้มอันขมขื่น
ณ ประเทศซึ่งได้ชื่อว่าดินแดนแห่งรอยยิ้มแห่งนี้ คนไทยได้สร้างชื่อเสียงอันเป็นที่กล่าวขานในทั้งการดำเนินชีวิตอย่างสนุกสนานและเรียบง่าย โดยมี “รอยยิ้ม” เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ข้ามไปที่เขาใหญ่ ในงาน “สตีท ฟรี เฟสติวัล” (Stress Free Festival) มหกรรมแห่งความผ่อนคลาย ซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยงานการท่องเที่ยวไทย ณ อุทยานแห่งชาติที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
“คุณพอล” ชายผู้ซึ่งตั้งแผงขายของหน้าตาน่ารักที่มีเทียนหอมทำมือวางเรียงราย พร้อมส่งกลิ่นที่หลากหลายกลางผืนป่าบรรยากาศสดชื่น เปิดใจกับนักข่าว
“ผมเริ่มทำธุรกิจนี้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดพอดี ผมจึงไม่มีเงินเช่าร้าน”
“ผมหันมาขายทางออนไลน์แทน แล้วก็ต้องประหลาดใจเพราะยอดขายพุ่งสูงเป็น 3 เท่าของเป้าหมายที่ผมตั้งไว้”
“ผมดีใจที่ได้เห็นผู้คนกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง แถมยังเยอะกว่าที่ผมคาดไว้ งานมหกรรมและวันหยุดยาวทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาที่นี่ จึงเป็นโอกาสดีที่จะตั้งบูธขายของ”
และเราขอปิดท้ายด้วยคำสัมภาษณ์จากเจ้าของสวนมะม่วงแห่งหนึ่งในบริเวณเขาใหญ่อีกเช่นกัน ที่เพิ่งมาหายใจคล่องขึ้น หลังจากมาตรการล็อกดาวน์เริ่มผ่อนคลาย
“ยอดจองเริ่มกลับมา เราจึงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวใหม่ทุกวันโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวและสุดสัปดาห์ แม้หน้ามะม่วงจะผ่านไปแล้วก็ตาม” คุณวราภรณ์ เจ้าของสวนผลไม้ กล่าว
“ตอนเราปิด มันเป็นช่วงเก็บเกี่ยวพอดี”
“การขายผ่านทางออนไลน์และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมีส่วนช่วยอย่างมาก ช่วงนี้คือช่วงที่ยากลำบากจริงๆ หวังว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะหวนกลับมาได้ในอีกไม่ช้า”

เรียบเรียงโดย #เหมียวเลเซอร์
เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย: สำนักข่าวซินหัว
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น