CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิจัยยืนยัน ค้นพบหลุมอุกกาบาตที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุกว่า 2,200 ล้านปี

ในเหตุการณ์สำคัญหลายๆ ของโลกในอดีต หากเราสังเกตกันดีๆ จะพบว่าล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับอุกกาบาตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำเนิดดวงจันทร์ การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ หรือแม้แต่ความเป็นไปได้ของจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก

 

 

แต่น่าแปลกที่แม้ว่าโลกของเราจะมีความเกี่ยวข้องลึกซึ้งกับอุกกาบาตขนาดนี้ หลักฐานของการที่โลกถูกอุกกาบาตชนกลับเป็นอะไรที่หาชมได้ลำบากเหลือเกิน เพราะแม้แต่หลุมจากการชนที่ยิ่งใหญ่ก็สามารถหายไปตามกาลเวลาได้ไม่ยาก

ดังนั้นนี่คงจะถือเป็นการค้นพบที่น่าดีใจเอามากๆ ชิ้นหนึ่งเลยก็ได้ เมื่อในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา นักวิจัยในออสเตรเลียตะวันตกได้มีการออกมาประกาศว่า พวกเขาได้ทำการค้นพบหลุมอุกกาบาต ที่อาจจะเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในโลกแล้ว

 

 

หลุมดังกล่าวนี้ เป็นหลุมอุกกาบาตที่มีชื่อว่า “ยาร์ราบับบา” (Yarrabubba) โดยมันเป็นหลุมอุกกาบาตซึ่งเกิดจากการชนเมื่อ 2,200 ล้านปีก่อน ซึ่งเราเชื่อกันว่าเป็นการชนที่ทำให้อากาศในอดีตอุ่นขึ้น ปิดฉากยุคน้ำแข็งครั้งใหญ่ที่ปกคลุมโลกจนเป็น “ลูกบอลหิมะ” ไป

อ้างอิงจากรายงานการค้นพบ ตัวตนของหลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบานั้น ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1979 โดยมันถูกสงสัยว่าหลับใหลอยู่ที่ไหนสักแห่งของออสเตรเลีย จากการที่ในพื้นที่มีการค้นพบชิ้นส่วนที่กระเด็นออกมาจากการพุ่งชนอยู่หลายครั้ง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านๆ มาหลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบานั้น กลับไม่เคยมีการยืนยัน อายุของมันเลย จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้เข้าไปตรวจสอบร่องรอยความเปลี่ยนแปลงในสนามแม่เหล็กและลักษณะชั้นหินในพื้นที่

 

 

พวกเขาพบว่าหลุมอุกกาบาตดังกล่าวนี้ อาจจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่โตได้มากถึง 70 กิโลเมตร แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าแล้ว

แถมจากปริมาณยูเรเนียมในผลึกของเพทาย (zircon) และแร่โมนาไซต์ (monazite) เองก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่า หลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบานั้น อาจมีอายุเก่าแก่กว่าหลุมอุกกาบาตอื่นๆ ที่เราเคยพบมา (เช่นหลุมอุกกาบาตเก่าแก่ของแอฟริกาใต้) อย่างน้อยๆ 200 ล้านปีเลย

 

 

ที่มา livescience และ nature

Comments

ใส่ความเห็น