ย้อนกลับไปในปี 2006 ในตอนที่มีเสือพูม่าตัวหนึ่งล้มตายอย่างมีปริศนาในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ทีมนักชีววิทยาที่นำโดยคุณ Howard Quigley นั้นเพียงแค่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเล็กน้อย และไม่ได้สนใจความตายของเสือที่เกิดขึ้นมากนัก
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็ต้องพบกับเรื่องที่ชวนแปลกใจมากขึ้น เมื่อมีเสือพูม่าล้มตายอย่างมีปริศนาเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่ จนพวกเขาต้องตัดสินใจศึกษาเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
และแล้วเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 14 ปีจากการพบเสือพูม่าล้มตายอย่างมีปริศนาในพื้นที่ ล่าสุดนี้เองนักชีววิทยา ก็สามารถค้นพบสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความตายจำนวนมากในครั้งนี้จนได้ โดยพวกเขานั้นพบว่าสิ่งที่คร่าชีวิตเสือเหล่านี้ไปนั้น แท้จริงแล้วเป็นโรคร้ายที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่าง “กาฬมรณะ” หรือ “Black Death” นั่นเอง
ความจริงในข้อนี้ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นครั้งแรกในวารสาร Environmental Conservation เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ คุณ Howard Quigley และทีมงานได้เข้าทำการตรวจสอบซากเสือพูม่าร่วม 28 ตัว ที่ตายไปในพื้นที่เยลโลว์สโตน และพบว่าเกือบๆ ครึ่งหนึ่งในนั้นมีร่องรอยของโรคร้ายอยู่
อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนสถานที่เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้
โดยจากตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เก็บมาจากซากเสือนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้พบร่องรอยของเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Yersinia pestis ซึ่งเป็นแบคทีเรียตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคร้ายในคนที่สังหารคนยุโรปไปนับล้านเมื่อช่วงศตวรรษที่ 14 อาศัยอยู่ในตัวอย่างชิ้นเนื้อมากถึง 11 ชิ้น
เท่านั้นยังไม่พอในการตรวจเลือดของเสือพูม่าที่ยังมีชีวิตอีก 17 ตัว นักวิทยาศาสตร์ก็ยังพบด้วยว่ามีเสืออย่างน้อยๆ 8 ตัวในกลุ่มตัวอย่างนี้ที่ในร่างกายมี แอนติบอดีของ Y. pestis อยู่ ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่าเสือเหล่านี้เคยเป็นกาฬโรคมาก่อน และชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่า Black Death จะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเยลโลว์สโตนมานานกว่าที่เราคิด
Yersinia pestis แบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Black Death
น่าเสียดายที่ในปัจจุบันทีมนักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจฟันธงได้ว่าเพราะเหตุใดโรคร้ายในอดีตโรคนี้ จู่ๆ ถึงได้แพร่กระจายขึ้นในหมู่แมวยักษ์เหล่านี้ได้
แต่ด้วยความที่จริงๆ แล้ว กาฬโรคนั้นยังคงเป็นโรคที่พบได้ในปัจจุบันแม้แต่ในมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ก็คิดว่าโรคดังกล่าวอาจจะเป็นอะไรที่ระบาดในหมู่สัตว์มาตลอดเพียงแต่เราไม่ทราบกันเท่านั้นก็ได้
ซึ่งแนวคิดในจุดนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากเนื่องจากแบคทีเรีย Y. pestis นั้นมักถูกพบในสัตว์ฟันแทะ และหนึ่งในเหยื่อที่มักถูกเสือพูม่าล่าเองก็มักมีสัตว์ฟันแทะอยู่ด้วยจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ในเยลโลว์สโตนมีแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่ใกล้สัตว์ป่าอยู่เยอะ และที่ผ่านๆ มาพวกเขาก็มีขาวคนในพื้นที่มีอาการกาฬโรคมาแล้วอย่างน้อยๆ ถึง 6 คดีตั้งแต่ปี 1978-2008 มันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ การติดโรคของสัตว์เหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์เช่นกัน
ที่มา allthatsinteresting, wyomingnews และ cambridge
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น