โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infection: STI) เป็นประเด็นสำคัญมากๆ เลยล่ะที่ทุกคนควรรู้ไว้ ไม่ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่เคยมีก็ตาม เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งหญิงและชาย
การมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวก็อาจติดโรคเหล่านี้ได้ เพราะมันไม่สำคัญว่าคุณจะมีเพศสัมพันธ์มาแล้วกี่ครั้ง หรือจะกับใครกี่คนก็ตาม เพราะทุกคนมีสิทธิ์เป็นได้เท่าเทียมกัน
โดยเฉพาะเมื่อสอดใส่อวัยวะเพศชายเข้าไปในช่องคลอดทางอวัยวะเพศหญิง หรือแม้กระทั่งการทำออรัลเซ็กส์ให้กับอวัยวะเพศด้วยการใช้ปาก ทั้งสองก็เป็นวิธีถรับความเสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้
เพราะฉะนั้น ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนการร่วมรัก ว่าได้ใส่ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่นอกจากจะช่วยป้องกันโรคแล้ว ยังช่วยป้องกันการคุมกำเนิดได้อีกด้วย
การป้องกันยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักจะไม่มีอาการที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และหากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันเมื่อไหร่ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจโรคและตรวจเลือดให้เร็วที่สุด
และด้านล่างคือ 10 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรระวัง และควรรู้อาการเบื้องต้น หากหลังมีเพศสัมพันธ์แล้วมีอาการเข้าข่ายใน 10 โรคเหล่านี้จะได้เข้ารับการรักษาให้ทันการ
1. เชื้อคลามายเดีย (Chlamydia)
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า คลามายเดีย แทรโคมาทิส (Chlamydia Trachomatis) เป็นเชื้อที่ไม่มีอาการที่ชัดเจน สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นได้ ทั้งทางทวารหนัก หรือลำคอ อาจทำให้มีบุตรยาก
อาการที่เกิดขึ้นอาจใช้เวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์หลังจากมีเพศสัมพันธ์ถึงจะรับรู้ได้ โดยผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อจะมีอาการเหล่านี้
– ตกขาวผิดปกติ เจ็บกระดูเชิงกราน และปวดท้องน้อย
– รู้สึกอวัยวะเพศเหมือนถูกเผาไหม้ หรือคันบริเวณอวัยวะเพศ
– ผู้ชายจะรู้สึกเจ็บเมื่อปัสสาวะ และอัณฑะบวม เป็นต้น
2. โรคหนองใน (Gonorrhoea)
เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้ทั้งชายและหญิงเกิดภาวะมีบุตรยาก สามารถสังเกตภาวะเสี่ยงการเป็นโรคหนองในได้จากอาการเหล่านี้ เช่น
– ปัสสาวะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว
– รู้สึกแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ
– อาการเจ็บปวดจากปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศ
– อาการเจ็บปวดบริเวณลูกอัณฑะ และรู้สึกว่าอัณฑะอ่อนตัวลง
3. โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)
โรคเริมที่อวัยวะเพศนั้นสามารถติดต่อได้ง่าย และสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ถึงแม้จะพยายามรักษาแต่เชื้อไวรัสก็ยังคงอยู่ในร่างกายพร้อมจะระบาดได้ภายหลัง
โรคเริมสามารถระบาดได้ราวๆ 2 – 4 สัปดาห์หลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการของโรคเริมมีดังนี้
– อาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว
– รู้สึกเสียว หรือคันบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก
– มีแผลพุพองปรากฎบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือแม้กระทั่งขาอ่อน
4. เชื้อไวรัส HIV
เป็นเชื้อที่จะโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่วนใหญ่สามารถแพร่กระจายไปได้ทั้งทางช่องคลอด และทวารหนัก โดยเลือด หรืออสุจิ
โรคเอดส์มักจะถูกเรียกเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อ HIV ระยะสุดท้าย เพราะระยะสุดท้ายหมายถึงร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อร้ายได้แล้ว อาการของผู้ติดเชื้อ HIV ในช่วง 2 สัปดาห์แรกๆ จะมีดังนี้
– น้ำหนักลด
– ท้องเสีย
– เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นต้น
5. โรคซิฟิลิส (Syphilis)
โรคซิฟิลิสนั้นมีอยู่ 3 ระยะด้วยกัน หากพบในช่วงแรกๆ ก็สามารถรักษาให้หายก่อนจะเป็นระยะสุดท้ายได้ อาการคือจะเกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนัง ในแต่ละระยะจะมีอาการดังนี้
♦ ระยะที่ 1 อาการจะปรากฎในช่วง 2 – 4 สัปดาห์
– ผู้ชายจะรู้สึกเจ็บปวดและมีแผลที่อวัยวะเพศขณะกำลังเริ่มติดเชื้อในร่างกาย
– อาจมีแผลที่บริเวณริมฝีปาก ต่อมทอนซิล หรือมือ ทั้งนี้ มันจะหายไปหลังจาก 2 – 6 สัปดาห์
♦ ระยะที่ 2 เริ่มพัฒนาหลังระยะแรกประมาณ 1 – 3 เดือน
– เกิดผื่นล้ายตุ่มนูนบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ ช่องคลอด หรือทางทวารหนัก แต่ไม่มีอาการคันตามผิวหนัง
– มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดหัว มีไข้ เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง เป็นต้น
♦ ระยะที่ 3 ระยะสงบ
ในระยะนี้จะไม่สามารถเห็นอาการที่แสดงออกมาได้อย่างชัดเจน แต่จะยังมีเชื้ออยู่ในร่างกายซึ่งรับรู้ได้ผ่านการตรวจเลือด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สมอง เส้นประสาท และรุนแรงจนถึงขั้นอัมพาต หูหนวก เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
6. ตัวโลน (Pubic Lice หรือ Crabs)
แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็สามารถติดกันผ่านการสัมผัสร่างกายกันอย่างใกล้ชิด ตัวโลนมักอาศัยอยู่บริเวณขนหัวหน่าว ขนรักแร้ ขนบนใบหน้า รวมถึงผ่านการใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าปูที่นอน อาการที่ต้องระวังผ่านตัวโลนมีดังนี้
– มีอาการการคัน ระคายเคืองและการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศ
– จุดสีฟ้า หรือจุดเลือดเล็กๆ บนผิวหนัง
– ถุงอัณฑะเป็นสีขาว
– ผงสีดำๆ บริเวณชุดชั้นในจากตัวโลน
7. ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis)
เป็นภาวะที่ทำให้เกิดอาการตกขาวได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยตรง แต่อาการตกขาวที่ผิดปกติเช่น ตกขาวเป็นสีเทา มีกลิ่นคาว หรือมีลักษณะเป็นน้ำ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงแท้งบุตรขณะตั้งครรภ์ได้
8. โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis)
ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด แต่ชนิดที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์คือไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวภายในช่องคลอด ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง และมักจะหายไปภายในไม่กี่เดือน แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดโรคตับอักเสบบีเรื้อรังได้
แม้จะไม่มีอาการที่แสดงออกมามากนัก แต่สัญญาณทางร่างกายที่พบได้บ่อยคือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ รู้สึกไม่สบายตัวและตัวเหลือง เป็นต้น
9. โรคหูดหงอนไก่ (Genital Warts)
อาการที่เห็นได้ชัดคือติ่งเนื้อลักษณะขรุขระ ไม่มีอาการเจ็บและไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ มันเกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมน แปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus: HPV) แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีไรวัสจะมีหูดเสมอไป
โดยเชื้อไวรัสจะแพร่กระจายโดยการสัมผัสทางผิวหนัง แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด บริเวณที่สามารถเกิดหูดมีดังนี้
– บริเวณปากมดลูก
– ข้างในช่องคลอด
– ข้างในทวารหนัก
– บริเวณอวัยวะเพศ
– ขาอ่อน
– ข้างในท่อปัสสาวะชาย
– บริเวณถุงอัณฑะ เป็นต้น
10. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
ถึงแม้จะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับผู้หญิงที่มีช่องคลอด รวมไปถึงผู้ชายที่มีอวัยวะเพศชายด้วยเช่นกัน มักจะเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ อาการของโรคนี้ได้แก่
– รู้สึกปวดปัสสาวะมากๆ แต่มีปริมาณปัสสาวะออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
– ปวดแสบปวดร้อนที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
– ปวดบริเวณเหนือหัวหน่าว หรือบริเวณหน้าท้องด้านล่าง
– ปัสสาวะมีสีเข้ม และมีกลิ่นเหม็น
– มีเลือดออกมาในปัสสาวะ
– รู้สึกไม่สบาย อ่อนแอ หรืออาจมีไข้
อย่าลืมสำรวจร่างกายของตัวเองกันด้วยนะคะ!
ป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย ดีกว่าเกิดโรคแล้วต้องรักษาจริงๆ ?
เรียบเรียงโดย #เหมียวเมษา
ที่มา: cosmopolitan
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น