ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 100 ล้านปีก่อน ผึ้งโบราณหนึ่งตัวได้บังเอิญบินเข้าไปติดในยางไม้ แบบไม่มีวิธีที่จะหนีออกมาได้ ส่งผลให้เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายพันหลายล้านปี ยางไม้รอบๆ ตัวมันจึงเริ่มกลายเป็นอำพัน และผึ้งตัวดังกล่าวก็ถูกเก็บรักษาไว้ จนมาถึงมือของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
และแล้วหลังจากที่มันถูกตรวจสอบอย่างละเอียดโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบว่า
เจ้าผึ้งตัวนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นผึ้งสายพันธุ์ใหม่ที่เราไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนเท่านั้น แต่มันยังมีเกสรดอกไม้ติดอยู่ และที่สำคัญคือในตัวของมันมียังมีร่องรอยของปรสิตผึ้งติดอยู่อีกต่างหาก
ตำแหน่งของปรสิตบางส่วน
ฟอสซิลชิ้นนี้ เป็นสิ่งที่มาจากช่วงกลางของยุคครีเทเชียส โดยมันถูกพบเป็นครั้งแรกที่พม่า และในปัจจุบันได้ครองตำแหน่งทั้งหลักฐานแมลงช่วยผสมเกสร และหลักฐานปรสิตผึ้งที่เก่าแก่ที่สุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อ้างอิงจากรายงานของนักวิทยาศาสตร์ ผึ้งตัวที่ถูกพบนั้น ได้รับชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Discoscapa apicula” โดยมันยังคงมีลักษณะของแตนให้เห็นอยู่หลายจุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันเป็นผึ้งยุคแรกๆ ที่เริ่มมีการวิวัฒนาการมาจากแตน
ส่วนการที่ผึ้งตัวนี้มีเกสรดอกไม้ติดอยู่ ก็เป็นหลักฐานที่ดีว่ามันมาติดยางไม้ในขณะกำลังหาอาหารอยู่พอดี แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในอดีตแมลงเหล่านี้ก็มีการออกหาอาหารมาเพื่อเลี้ยงตัวอ่อนในรังมาเป็นเวลานานแล้ว
ร่องรอยเกสรดอกไม้บนขนของผึ้ง
ปัญหาสำคัญในการออกหาอาหารแบบนี้ อยู่ที่แมลงปรสิตอาจจะติดตัวผึ้งได้ไม่ยาก ซึ่งในกรณีของ Discoscapa apicula เอง มันก็ถูกเกาะไปด้วยตัวอ่อนของด้วงมากถึง 21 ตัว
เป็นไปได้ว่าตัวอ่อนของด้วงที่เห็นจะเข้ามาติดผึ้งตัวนี้โดยหวังว่ามันจะถูกพากลับรังและแบบไปกินตัวอ่อนของผึ้งต่อไป อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าพวกมันจะไม่ได้โชคดีอย่างที่คิด เพราะเป็นไปได้ว่าน้ำหนักจากพวกมันทั้ง 21 ตัวนี่เอง ที่ทำให้ผึ้งตัวนี้บินไปติดกับยางไม้ และกลายเป็นอำพันไปในที่สุด
ตัวอ่อนของด้วง แมลงปรสิตที่ติดตัวผึ้งอยู่
สิ่งเหล่านี้ ช่วยแสดงให้นักวิทยาศาสตร์เห็นได้เป็นอย่างดีว่า แตนนั้นต้องผ่านการวิวัฒนาการ และการใช้ชีวิตแบบใดบ้างกว่าที่จะกลายเป็นผึ้งแบบในปัจจุบัน และต่อให้เป็นในอดีต ชีวิตของผึ้งก็ไม่ได้ง่ายดายไปกว่าในปัจจุบันเลย
ที่มา zmescience, thelondoneconomic และ curiosmos
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น