เป็นข่าวที่วงการแพทย์ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าว หญิงสาวจากรัฐอิลลินอยส์ได้ทำการฟ้องร้องธนาคารสเปิร์ม
หลังจากที่เธอพบว่ามีผู้บริจาคสเปิร์มรายหนึ่งได้กลายเป็นบิดาทางสายเลือดของเด็ก 12 คน ซึ่งล้วนแต่มีอาการออทิสติก…
Danielle Rizzo หญิงสาวที่ทำการฟ้องร้องธนาคารในครั้งนี้ ได้ทราบถึงความจริงเป็นครั้งแรก ในตอนที่เธอทำการหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริจาคสเปิร์มรหัส “H898” หลังจากที่ลูกชายทั้งสองคนของเธอมีอาการออทิสติกทั้งคู่ (ซึ่งมาจากสเปิร์มของผู้บริจาครายเดียวกัน)
ในการหาข้อมูลครั้งนั้น เธอได้ทราบว่านอกจากเธอแล้วคุณแม่อีกหลายคนที่รับสเปิร์มจากผู้บริจาครายนี้ล้วนมีปัญหาออทิสติกทั้งสิ้น
ซึ่งคุณ Danielle บอกว่าหากนี่เป็นเรื่องบังเอิญ มันก็ไม่ต่างอะไรจากการที่คุณแม่เหล่านี้ “เปิดพจนานุกรมและชี้ไปที่คำเดียวกันในหน้าเดียวกันในเวลาเดียวกันเลย”
คุณ Danielle Rizzo ผู้ทำการฟ้องร้องธนาคารสเปิร์ม
แน่นอนว่าการค้นพบในครั้งนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการกลายพันธุ์ในอสุจิของผู้บริจาคน่าจะเป็นตัวการหลักของเรื่องที่เกิดขึ้น
และในเวลาเดียวกันมันก็ทำให้คนหลายกลุ่มเกิดหวาดกลัวกันขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วอาการออทิสติกอาจจะมาจาก “ยีนออทิสติก” ก็เป็นได้
สำหรับความกังวลในจุดนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ฝ่ายออกมาทำการยืนยันแล้วว่า มนุษย์ไม่ได้มียีนตัวใดตัวหนึ่งที่ทำให้เด็กเป็นออทิสติกอย่างที่คิด
ซึ่งในทางกลับกันอาการออทิสติกจะมีความเกี่ยวข้องกับยีนมากกว่าร้อยๆ ตัว และยีนเองก็เป็นเพียง ‘หนึ่ง’ ในปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เกิดกรณีนี้ขึ้นมา
อย่างไรก็ตามในกรณีหายากบางกรณี การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมก็อาจเป็นสาเหตุหลักของอาการออทิสติกได้เช่นกัน หากอ้างอิงสถิติจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) ราวๆ 2-4% ของคนที่เป็นออทิสติกทั้งหมดจะมีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมซึ่งอาจถูกส่งต่อไปยังรุ่นลูกได้
โดยสำหรับของลูกๆ ของคุณ Danielle (และอาจรวมไปถึงเด็กคนอื่นๆ รวม 12 คน) ดูเหมือนว่าพวกเขานั้นจะมีกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมในยีนสองตัวคือ MBD1 และ SHANK1 ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับอาการออทิสติกที่เกิดขึ้นก็เป็นได้
ลูกชายทั้งสองของคุณ Danielle
Dr. Wendy Chung ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เด็กแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้
“เรามักเรียกอาการออทิสติกแบบเหมารวมว่าเหมือนๆ กัน แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน
ในบางคนมันก็เกี่ยวกับยีน บางคนอาจจะเป็นการผสมผสานระหว่างยีนและสิ่งแวดล้อม และบางคนก็เกิดจากเหตุผลที่เราไม่อาจทราบได้”
จากความแตกต่างในจุดนี้ ต่อให้คลินิกการเจริญพันธุ์ส่วนใหญ่ (Reproductive Clinics) มีการตรวจสอบยีนกว่าร้อยๆ ตัวอยู่เสมอก็ตาม พวกเขาก็ไม่สามารถระบุเกี่ยวกับโรคออทิสติกได้
ทั้งนี้เองคงต้องชี้แจ้งไว้ด้วยว่านอกจากเรื่องเกี่ยวกับอาการออทิสติกแล้ว ในการฟ้องร้องของคุณ Danielle ยังมีการชี้แจงไว้ด้วยว่าผู้บริจาคสเปิร์มรายนี้ มีการให้ข้อมูลปลอมเกี่ยวกับตัวเองด้วย
เช่นการที่เขาบอกว่าจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั้งๆ ที่ไม่ได้จบจริง และการที่เจ้าตัวไม่ยอมระบุในเอกสารว่าตนนั้นเคยมีอาการโรคสมาธิสั้นมาก่อนด้วย
โดยในกรณีที่การฟ้องร้องเป็นไปตามกำหนดการ คดีของคุณ Danielle ก็มีแนวโน้มที่จะถูกตัดสินในช่วงเดือนมีนาคม 2020 โดยมีการเรียกร้องค่าเสียหายอยู่ที่ 250,000 เหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 7,645,000 บาท
ที่มา livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น