หนังสือนั้นมีประวัติความเป็นมามาอย่างยาวนาน หนังสือแต่ละเล่มถูกสร้างด้วยความประณีต แฝงไปด้วยศาสตร์และศิลป์มากมาย ตั้งแต่ผู้เขียนหนังสือ กองบรรณาธิการ ไปจนถึงคนทำปก
และเนื่องจากวันที่ 9 สิงหาคม ถือเป็นวันคนรักหนังสือแห่งชาติประจำปีของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นโอกาสดีๆ ที่อยากจะพาเพื่อนๆ ไปเยี่ยมชมความคลาสสิก และความสวยงามของห้องสมุดต่างๆ ทั่วโลก
แม้ในปัจจุบันกระแสการอ่านหนังสืออาจลดน้อยลง เพราะมีความสะดวกสบายมากขึ้นจากการใช้สมาร์ทโฟน หรืออ่านหนังสือจากเครื่องคินเดิลแทน
แต่ห้องสมุดทั้ง 13 แห่งทั่วโลกนั้นก็มีความสวยงามมากมาย ให้บรรยากาศที่แตกต่างจากการอ่านหนังสือผ่านหน้าจออย่างแน่นอน หากมีโอกาสเพียงแค่ได้แวะไปเยี่ยมชมก็คุ้มค่าแล้ว
♦ ทวีปอเมริกา
1. ห้องสมุด George Peabody เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ถูกสร้างตั้งแต่ปี 1878 เชื่อว่ามีหนังสือมากถึง 300,000 เล่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 19 โดดเด่นด้วยพื้นหินอ่อน และเสารูปทรงสวยงาม
2. ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดถูกเปิดตัวตั้งแต่ปี 2004 ออกแบบโดยสถาปนิก Rem Koolhaas ที่พยายามสร้างอาคารให้มีความสูงถึง 11 ชั้น ตกแต่งแบบโปร่งใส พร้อมหนังสือกว่า 1.45 ล้านเล่ม และคอมพิวเตอร์อีก 400 เครื่องเพื่อบริการประชาชน
3. หอสมุดบัสกอนเซโลส กรุงเม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก
เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2006 ออกแบบโดยสถาปนิก Alberto Kalach หอสมุดมีพื้นที่กว่า 38,000 ตารางเมตร และแบ่งออกเป็นสัดส่วนอย่างเรียบร้อย
♦ ทวีปยุโรป & แอฟริกา
4. ห้องสมุด Admont Abbey เมือง Admont ประเทศออสเตรีย
ห้องสมุดอารามแห่งนี้ถูกสร้างตั้งแต่ปี 1776 อยู่บริเวณแม่น้ำ Enns งดงามไปด้วยสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมแห่งยุคบาโรก มีเฉดสีขาวและทองสะอาดตา พร้อมจิตรกรรมเพดานขนาดใหญ่ของ Bartolomeo Altomonte ถือเป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
5. ห้องสมุด Wiblingen Abbey เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี
เป็นห้องสมุดที่มีรูปปั้นมากมาย และภาพวาดบนผนังอันสวยงาม ซึ่งถูกวาดโดยศิลปิน Franz Martin Kuen รวมถึงได้รับการตกแต่งโดย Christian Widemann ห้องสมุดถูกเปิดตัวตั้งแต่ปี 1744 ตั้งอยู่ที่โรงเรียนแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัยอูล์ม
6. ห้องสมุด Handelingenkamer กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ห้องสมุดแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องการตกแต่งแบบยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) และได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมอันสวยงามของประเทศจีน จะเห็นได้ว่าสีหลักที่ใช้คือสีแดง และยังตกแต่งด้วยหัวมังกรอีกด้วย และบันไดเวียนก็ยังเป็นสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เช่นกัน
7. ห้องสมุดแห่งเมืองชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี
ห้องสมุดสีขาว ถูกตกแต่งแบบมินิมอลแห่งนี้ ถูกออกแบบโดยสถาปนิกกลุ่ม Yi architects โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิหารแพนธีออน จากกรุงโรม ประเทศอิตาลี ให้มีรูปร่างคล้ายพีระมิดคว่ำ กลายเป็น “หัวใจของเมือง” ไปเลยก็ว่าได้
8. ห้องสมุด Bodleian เมืองอ็อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
ถือเป็นห้องสมุดหลักสำหรับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดเลยก็ว่าได้ เป็นหนึ่งในตึกที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ด้วยการออกแบบตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยสถาปนิกชาวอังกฤษอย่าง James Gibbs ตามสไตล์ Palladian และเป็นห้องสมุดแบบวงกลมที่เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษอีกด้วย
9. ห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยทรินิตี้ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์
เป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไอร์แลนด์ สร้างเสร็จราวปี 1592 ถูกสร้างจากไม้โอ๊ค มีหนังสือมากกว่า 6 ล้านเล่ม ซึ่งมีหนังสืออายุเก่าแก่ที่สุดถึง 200,000 เล่มเลยทีเดียว ถือเป็นห้องสมุดห้องเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
10. ห้องสมุด Alexandrina เมืองอะเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์
ถือเป็นห้องสมุดในยุคแรกๆ ของโลก ซึ่งในอดีตได้อนุญาตให้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย ขุนนาง และชนชั้นที่ร่ำรวยเข้าใช้เท่านั้น
ทั้งนี้ห้องสมุดแห่งนี้เคยถูกทำลายเมื่อหลายร้อยปีก่อน เมื่อ จูเลียส ซีซาร์ โจมตี คลีโอพัตรา แต่ก็ถูกบูรณะจนกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และกลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
♦ ทวีปเอเชีย
11. หอสมุดแห่งชาติเมืองเซจง ประเทศเกาหลีใต้
โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมภายนอกอาคาร เป็นห้องสมุดสาธารณะที่เปิดให้บริการเมื่อปี 2013 สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เปิดให้เข้ามาอ่านหนังสือ และยืมหนังสือเท่านั้น แต่ยังให้บริการเกี่ยวกับการประชุม สัมมนา และมีพื้นที่ให้ทานอาหาร พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย
12. ห้องสมุดลี่หยวน กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้าน Jiaojiehe เดิมทีมีจุดประสงค์สร้างขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ในหมู่บ้านได้อ่านหนังสือฟรีๆ ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวจีน Li Xiaodong ใช้ไม้ฟืนในการตกแต่ง ผสมผสานห้องสมุดให้เข้ากับธรรมชาติ
13. ห้องสมุดสาธารณะ Rampur Raza เมือง Rampur ประเทศอินเดีย
ห้องสมุดแห่งนี้เปิดมานานกว่า 200 ปีแล้ว ถือเป็นแหล่งเก็บมรดกทางวัฒนธรรมของชาวอินโด – อิสลาม และมีข้าวของหายากทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น เครื่องมือทางดาราศาสตร์ ต้นฉบับดั้งเดิมของคัมภีร์อัลกุรอานฉบับแปลครั้งแรก เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลอินเดีย
เรียบเรียงโดย #เหมียวเมษา
ที่มา: hypebae
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น