CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

สามนักวิทย์คว้ารางวัลโนเบล จากงานวิจัยการปรับตัวของเซลล์ต่อปริมาณก๊าซออกซิเจน

เป็นเรื่องที่เราทราบกันว่าในทุกๆ ปี โลกของเราจะมีการประกาศรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ เพื่อส่งเสริมและให้รางวัลแก่ผู้รับรางวัลในแต่ละด้าน โดยรางวัลโนเบลจะถูกประกาศออกมาวันละสาขา โดยจะประกอบไปด้วยสาขาการแพทย์ สาขาฟิสิกส์ สาขาเคมี สาขาวรรณกรรม สาขาสันติภาพ และสาขาเศรษฐศาสตร์

และสำหรับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ซึ่งเพิ่งจะมีการประกาศกันไปเมื่อวานนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลไปก็ได้แก่ทีมนักวิทยาศาสตร์สามคน ซึ่งประกอบ ด้วยคุณ Peter J. Ratcliffe จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ศาสตราจาร William G. Kaelin Jr จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และศาสตราจาร Gregg L. Semenza จากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์

 

 

โดยทั้งสามคนนี้ได้รับรางวัลโนเบลไป จากผลงานในการวิจัย การรับรู้และปรับตัวของเซลล์ ต่อระดับก๊าซออกซิเจนรอบตัวมนุษย์นั่นเอง

นี่เป็นงานวิจัยที่ฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องหวือหวาแปลกใหม่สำหรับหลายๆ คน แต่แท้จริงแล้วมันก็เป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อโลกเป็นอย่างมาก เพราะมันเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเราหลายด้าน ไม่ว่าจะการดำน้ำ การไปอยู่บนที่สูง การออกกำลังกาย หรือการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์

นอกจากนี้การรับรู้และปรับตัวให้เข้ากับระดับก๊าซออกซิเจนของเซลล์มนุษย์ยังมีบทบาทสำคัญในโรคบางชนิดอย่างโรคโลหิตจาง หรือโรคมะเร็งด้วย ซึ่งทำให้งานวิจัยชิ้นนี้อาจช่วยเป็นบันไดไปสู่การรักษาโรคร้ายหลายๆ อย่างในอนาคตได้เลย

 

 

อ้างอิงจากคณะกรรมการรางวัลโนเบล นี่คือการค้นพบที่เผยให้เห็นกลไกการปรับตัวที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เพราะแม้ว่า “เราจะทราบกันมานานถึงความสำคัญของออกซิเจน แต่เรื่องราวเกี่ยวกับการปรับตัวของเซลล์ต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจนนั้น ที่ผ่านๆ มายังคงเป็นปริศนามาตลอด”

แม้แต่ในกระบวนการขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิต เซลล์ของมนุษย์ก็ต้องการออกซิเจนเพื่อเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน ดังนั้นหากเซลล์ไม่มีการปรับตัวเลย เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในระดับออกซิเจนระบบในร่างกายมนุษย์ก็จะพังตามๆ กันไปหมด

 

 

คุณ Randall Johnson สมาชิกคณะกรรมการโนเบลกล่าวว่า “เซลล์ต้องการวิธีการในการปรับให้เข้ากับปริมาณของออกซิเจนในขณะที่ยังคงทำงานที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตได้อยู่” ซึ่งงานวิจัยของทั้งสาม ก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจระบบดังกล่าวได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนั่นเอง

ทั้งนี้เองนักวิทยาศาสตร์ทั้งสามคนที่กล่าวมาข้างต้นจะได้รับเงินรางวัลจากรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 9 ล้านโครนสวีเดน หรือราวๆ 27 ล้านบาท โดยเงินรางวัลจะถูกแบ่งให้กับทั้งสามคน ในปริมาณเท่าๆ กันต่อไป

 

ที่มา bbc, livescience และ theguardian


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น