ลึกเข้าไปในพื้นที่ของชนตูวา ดินแดนส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ยังคงมีแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งซึ่งจมอยู่ใต้น้ำตลอดแทบทั้งปี จนได้ชื่อว่าเป็น “แอตแลนติสของชาวรัสเซีย”
แอตแลนติสของชาวรัสเซียที่ถูกน้ำท่วม ในยามปกติ
ตามปกติพื้นที่ในจุดนี้จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนของปีเท่านั้น ซึ่งทำให้การเข้าไปตรวจสอบของนักโบราณคดี เป็นไปได้อย่างค่อนข้างลำบากเมื่อเทียบกับแหล่งโบราณคดีโดยทั่วไป
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทีมนักโบราณคดีก็สามารถทำการค้นพบครั้งใหญ่ในที่แห่งนี้จนได้ เมื่อการสำรวจครั้งล่าสุดนี้เอง พวกเขาได้ทำการค้นพบโครงกระดูกหญิงสาวอายุกว่า 2,100 ปี ที่ถูกฝังไว้ในที่แห่งนี้พร้อมๆ กับโบราณวัตถุรูปร่างคล้าย “ไอโฟน” ชิ้นหนึ่ง
อ้างอิงจากทีมนักสำรวจ พวกเขาตั้งชื่อเล่นให้โครงกระดูกที่พบว่า “นาตาชา” โดยเธอนั้นถูกฝังเอาไว้ในหลุมศพแบบโบราณพร้อมๆ กับเครื่องประดับจากสมัยยุคซงหนู (กลุ่มคนเร่ร่อนโบราณที่อาศัยอยู่ทางเหนือของจีน) ซึ่งรวมไปถึงรูปร่างคล้ายโทรศัพท์ดังที่กล่าวไปข้างต้น
วัตถุโบราณชิ้นนี้ทำขึ้นจาก “เจ็ท” หินลิกไนต์สีดำขนาด 18×9 เซนติเมตร ที่มีการประดับประดาไว้ด้วยเทอร์คอยซ์ หินคาร์เนเลียน และไข่มุก ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าน่าจะเคยถูกใช้งานในฐานะของหัวเข็มขัดมาก่อน
หัวเข็มขัดที่ว่า ถูกฝังไว้บนโครงกระดูกของหญิงสาวผู้เสียชีวิต พร้อมๆ กับเครื่องปั้นดินเผา และเหรียญทองที่ผลิตขึ้นเมื่อ 2,197 ปีก่อน ซึ่งใช้เป็นหลักฐานช่วยยืนยันช่วงเวลาที่หญิงสาวเคยมีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี
โดยนอกจากตัวนาตาชาแล้ว ในพื้นที่ใกล้เคียงกันเองนักโบราณคดีก็ยังเคยมีโอกาสได้พบกับหลุมศพของนักออกแบบเครื่องหนังอีกคนด้วย ซึ่งโครงกระดูกร่างนี้ ในตอนที่ถูกพบมีการแต่งกายด้วยผ้าไหมอย่างดี จนในช่วงแรกๆ ทีมค้นหาเข้าใจผิดว่าเธอเป็นนักบวชหญิงเลย
โครงกระดูกนักออกแบบเครื่องหนังซึ่งเคยถูกคิดว่าเป็นนักบวชหญิง
ทั้งนี้เองพื้นที่แอตแลนติสของชาวรัสเซียนี้ นับว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่นักสำรวจให้ความสนใจเป็นอย่างมากมาเป็นเวลานานแล้ว อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่มีการทำการสำรวจในที่แห่งนี้ นักโบราณคดีจะต้องแข่งกับเวลาอยู่เสมอๆ
สภาพแหล่งโบราณคดีตอนน้ำลง
นั่นเพราะเมื่อที่การขุดค้นเกิดขึ้น หากว่าพวกเขาทำงานกันช้าเกินไป ทันทีที่น้ำขึ้นกระแสน้ำจะท่วมเข้ามาในแหล่งโบราณคดี และอาจทำให้ขุมทรัพย์โบราณเหล่านี้ถูกทำลายไปอย่างช่วยไม่ได้ หากไม่มีการระวังให้ดี
ที่มา metro, ancient-origins, siberiantimes และ thesun
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น