CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

“เงินซื้อชีวิตผมไม่ได้” ตำนานครอบครัวเกษตรกร ผู้เพาะปลูกกลางสนามบินนาริตะนานร่วม 100 ปี

คุณคงจะได้เคยเห็นเรื่องราวของการยืนหยัดอยู่บนที่ดินที่ขัดขวางการพัฒนาผังเมืองกันมาบ้าง อันเป็นความขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงานรัฐหรือเอกชน กับชาวบ้านที่มาอยู่อาศัยเป็นเวลานาน ที่ยืนยันจะไม่ย้ายถิ่นฐานออกไปไหน แม้ว่าจะมีการยื่นข้อเสนอชดเชยให้แล้วก็ตาม

 

 

แน่นอนว่าที่ดินที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทขวางการพัฒนาเส้นทางการจราจร แต่สำหรับที่นี่คุณอาจจะไม่เคยได้เห็นหรือได้ยินเสียงของเขามาก่อน เพราะเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสนามบินญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของประเทศ

 

 

ทาคาโอะ ชิโตะ ชาวไร่ผู้สานต่อฟาร์มปลูกผักของตระกูลมานานร่วม 100 ปีแล้ว ต้นกำเนิดของตระกูลคุณปู่ผู้เป็นชาวไร่ ส่งต่อมายังรุ่นพ่อและในที่สุดก็มาต่อที่รุ่นลูก

สิ่งที่แตกต่างไปในรุ่นของเขานั่นก็คือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแบบสุดขั้ว ต่างจากที่เมื่อก่อนฟาร์มของเขานั้นเป็นหมู่บ้านรายล้อมไปด้วย 30 หลังคาเรือนและเป็นทุ่งทำสวนทำไร่เปิดโล่ง

 

 

กลับกันแล้วในปัจจุบันฟาร์มของเขาเป็นฟาร์มแห่งเดียวที่ยังคงตั้งอยู่ใจกลางสนามบินนาริตะแห่งนี้ มีเครื่องบินขึ้นลงตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน และการที่เขาจะเดินทางเข้าไปทำไร่บนพื้นที่ของตัวเองได้นั้นต้องอาศัยลอดผ่านอุโมงค์ไป

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมเขายังคงยืนหยัดทำฟาร์มอยู่กลางสนามบินเช่นนี้ เมื่อคนส่วนใหญ่เลือกที่จะย้ายออกไป แต่เขากลับเลือกที่จะต่อสู้เพื่อพื้นที่นี้มานานร่วม 20 ปี ปฏิเสธรับข้อเสนอเงินชดเชยเป็นจำนวน 53 ล้านบาทเพื่อที่ดินตรงนี้มาแล้ว…

 

 

“ที่ดินตรงนี้ผ่านการทำไร่มาร่วม 3 รุ่นเกือบจะครบศตวรรษแล้วครับ ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ มาจนถึงรุ่นผม ผมอยากจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ต่อไปเพื่อทำการเกษตร”

 

 

โทอิชิ คุณพ่อของคุณทาคาโอะ คือหนึ่งในเกษตรกรผู้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลในการทำแผนขยายและสร้างสนามบินนาริตะมาตั้งแต่ช่วงปี 1970 โดยเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกที่จะขายที่ดินจากแรงจูงใจทางการเงิน

แต่สำหรับโทอิชิเองไม่สนใจในเม็ดเงินเหล่านั้น แรงยืนยันเช่นนี้จึงส่งต่อมายังคุณทาคาโอะตั้งแต่เด็ก และเมื่อคุณพ่อของเขาจากไปด้วยวัย 84 ปี เขาจึงลาออกจากกิจการร้านอาหารและกลับมาทำการเกษตรสานต่อเจตนารมณ์ของครอบครัว

 

 

คุณทาคาโอะ มักจะมีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางกฎหมายกับหน่วยงานรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง สู้เพื่อปกป้องสิทธิในการครอบครองที่ดินของครอบครัวที่ทำการเกษตรมานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ที่เขากลับมาทำฟาร์มอยู่ที่นี่

มันเป็นงานที่เหนื่อยและยากลำบากไม่ต่างไปจากงานการเกษตรที่เขาทำอยู่เลย แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อและการต่อสู้ของเขาก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชน มีอาสาสมัครและนักกิจกรรมเข้ามาร่วมสนับสนุนเขาตลอดทุกช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

 

 

“ผมได้รับข้อเสนอเงินชดเชยแลกกับการที่ผมต้องปล่อยที่ดินตรงนี้ไป พวกเขาเสนอเงินให้ผมมากถึง 180 ล้านเยน (53 ล้านบาท) นั่นมันเป็นเงินค่าแรงของชาวไร่ 150 ปีเลยนะ ผมไม่สนเรื่องเงินหรอก ผมอยากจะทำการเกษตรต่อไป ไม่เคยคิดจะออกไปจากที่นี่เลย”

 

 

ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะนั้นคือสนามบินที่รองรับผู้โดยสารราว 40 ล้านคน และเที่ยวบินจำนวน 250,000 เที่ยวบินต่อปี ซึ่งแผนการจะขยายรันเวย์เพิ่มนั้นจะต้องผ่านที่ดินของคุณทาคาโอะ

แต่ด้วยปัญหาทางข้อกฎหมายจึงทำได้เพียงแค่สร้างทางล้อมรอบเอาไว้ และทางสนามบินเองก็ได้ซื้อที่ดินจากชาวไร่ที่ยอมรับข้อเสนอไปเกือบหมดแล้ว ยกเว้นแต่คุณทาคาโอะ

 

 

อย่างไรก็ดีเคยมีการยื่นเรื่องนี้ส่งไปให้ทางศาลจังหวัดชิบะได้พิจารณาแล้วในปี 2018 ทว่าคุณทาคาโอะก็ชนะคดีในการบังคับขายที่ดิน ซึ่งจะต้องหยุดเป็นการชั่วคราวจนกว่าทางศาลสูงโตเกียวจะเริ่มทำการพิจารณาอีกครั้ง

 

 

สำหรับคุณทาคาโอะยังยืนยันที่จะทำไร่กลางสนามบินเช่นนี้ต่อไป ด้วยพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ปลอดสารพิษที่กระบวนการ ผลผลิตสดๆ ที่ส่งให้ลูกค้ากว่า 400 ราย ก็ยังคงอยู่ได้ไม่มีปัญหา

โดยในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดอยู่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับเขามากนัก ดีกับเขาอีกตรงที่เที่ยวบินลดน้อยลง เสียงดังจากเครื่องบินก็น้อยลง อากาศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และใช้ชีวิตได้อย่างสงบเป็นปกติเหมือนกับคนอื่นๆ ได้บ้าง

 

ที่มา: bbc, straitstimes


Posted

in

,

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น