CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์คิดค้น ‘วัคซีนสำหรับแมว’ แก้โรคภูมิแพ้แมวในคนได้แล้ว คาดอีก 3 ปี ใช้งานได้จริง

หากคุณเป็นทาสแมว แต่ดันแพ้แมว คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่เบาเลยทีเดียว…

แต่ในวันนี้เรามีข่าวดีจะมาแจ้งให้ทุกคนทราบ เพราะตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ ใกล้ที่จะผลิตวัคซีนที่จะช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้แมวได้แล้ว!!

โดยปกติแล้วเราจะพบผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้แมว 1 คน จากทุกๆ 10 คน อาการที่สังเกตได้ง่ายก็คือ หากคุณจาม หรือระคายเคืองที่ผิวหนังเวลาที่มีแมวอยู่ใกล้ๆ นั่นแหละชัดเลยแสดงว่าคุณคือ 1 ใน 10 แล้วล่ะ

 

 

แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เค้าสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคภูมิแพ้แมวขึ้นมาได้แล้ว

และถ้าหากว่าคุณเป็นคนกลัวเข็ม ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะไม่ใช่คุณที่จะถูกฉีดยา แต่เป็น ‘เจ้าเหมียว’ ต่างหาก

 

และนี่คือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังการผลิตวัคซีนที่ว่านี้ครับ…

 

ถ้าคุณแพ้ขนแมว จริงๆ แล้วคุณไม่ได้แพ้ที่เพราะว่ามันเป็นขน หรือมันเป็นแมว แต่แพ้โปรตีนที่มีชื่อว่า Fel-d1 ต่างหาก ซึ่งเจ้าโปรตีนชนิดนี้สามารถพบได้ในสัตว์ที่มีขน

 

 

เจ้าโปรตีนชนิดนี้จะติดอยู่กับสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ ถ้าหากผิวหนังของพวกมันแห้งและหลุดออกจากตัว โปรตีนนั้นก็จะหลุดตามออกมาด้วยและปลิวไปติดตามที่ต่างๆ

และเมื่อมันเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ที่เป็นภูมิแพ้ต่อโปรตีนชนิดนี้ ระบบภูมิคุ้มกันก็จะมองว่ามันเป็นภัยคุกคามต่อร่างกาย และพยายามที่จะขับมันออกมานั่นเอง

 

 

อย่างไรก็ตามการศึกษาวิจัยที่จะแก้ไขปัญหาโรคภูมิแพ้แมวนี้ ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ในที่สุดนักวิจัยก็สามารถผลิตวัคซีนที่ชื่อว่า HypoCat ขึ้นมาได้

เมื่อฉีดเจ้าวัคซีนตัวนี้เข้าไปในร่างกายของเจ้าเหมียว มันจะไปทำหน้าที่หลอกภูมิคุ้มกันในร่างกายของเจ้าเหมียวเพื่อให้ไปทำลายโปรตีน Fel-d1 ซะ

 

 

งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Allergy and Clinical Immunology มีการทดลองกับแมวจริงๆ แล้วกว่า 54 ตัว ที่มหาวิทยาลัย University Hospital Zurich ในสวิตเซอร์แลนด์

พบว่าการทดลองเป็นไปได้ด้วยดี และคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะสามารถผลิตวัคซีนออกมาใช้งานได้จริงๆ

 

อดทนอีกนิดนะเหล่าทาสทั้งหลาย อีกไม่นานก็จะได้กอดเจ้าเหมียวสมใจอยากแล้ว ^^

 

ที่มา : livescience, dailymail, newshub


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น