เพื่อนเคยนึกสงสัยกันขึ้นมาไหมว่าพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อ 750 ล้านปีก่อน มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?
นี่อาจจะเป็นคำถามที่ฟังดุแปลกและค่อนข้างเฉพาะทางอยู่บ้าง แต่หากเพื่อนๆ นึกสนใจขึ้นมา เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาคุณ Ian Webster หนึ่งในผู้ดูแลของเว็บไซต์ “Dinosaurpictures” หนึ่งในเว็บไซต์ฐานข้อมูลไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ทำการสร้างเครื่องมือชิ้นใหม่ที่จะให้คำตอบของคำถามคาใจเพื่อนๆ แล้ว
นี่คือ “Ancient Earth” แผนที่สื่อปฏิสัมพันธ์ที่ออกแบบมาให้คุณสามารถใส่ชื่อเมืองที่คุณต้องการ และย้อนเวลาดูความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในช่วงเวลาสำคัญๆ ตั้งแต่ในปัจจุบันและย้อนไปได้ไกลถึงเมื่อ 750 ล้านปีก่อน (เข้าไปชมแผนที่กันได้ ที่นี่)
กรุงเทพเมื่อ 200 ล้านปีก่อน รูปร่างต่างจากปัจจุบันมาก
แผนที่ชิ้นนี้ได้รับข้อมูลมาจากโครงการ PALEOMAP ของนักบรรพชีวินวิทยา Christopher Scotese ซึ่งริเริ่มการติดตามการกระจายตัวของแผ่นดินและทะเลตลอดช่วง 1,100 ล้านปีที่ผ่านมา
โดยในแผนที่ชิ้นปัจจุบัน เพื่อนๆ จะสามารถย้อนกลับไปดูช่วงเวลาสำคัญๆ ของพื้นที่ต่างๆ ในโลกได้ถึง 26 ช่วงเวลา
ไม่ว่าจะด้วยการระบุเลขปีโดยตรง กดลูกศรเพื่อค่อยๆ ไล่ช่วงเวลาไป หรือแม้แต่การเลือกชื่อเหตุการณ์สำคัญๆ อย่าง “เหตุการณ์ไดโนเสาร์สูญพันธุ์”
กรุงเทพในช่วงไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ราวๆ 66 ล้านปีก่อน
เท่านั้นยังไม่พอด้วยความที่ว่าแผนที่อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ฐานข้อมูลไดโนเสาร์ ทันทีที่เราใส่ที่อยู่ที่ต้องการลงไป ตัวแผนที่ก็จะมีการบอกด้วยว่าไดโนเสาร์ที่อยู่ใกล้ๆ ที่อยู่ของเรานั้นมีตัวอะไรบ้าง
ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจก็สามารถเข้าไปในชื่อที่โผล่ขึ้นมา เพื่อเข้าไปอ่านเรื่องราวของไดโนเสาร์ดังกล่าวโดยตรงได้ด้วย
สนใจกันแล้วใช่ไหมล่ะ ว่าแล้วเราก็ไปทดลองใช้ แผนที่ กันด้วยตัวเองเลยดีกว่า
ที่มา smithsonianmag และ dinosaurpictures
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น