ในตอนที่คนงานของเหมืองในรัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา เชื่อว่าพวกเขาคงมีรายชื่อสิ่งที่คาดว่าจะพบอยู่ในหัวมากมายหลายชนิด ถึงอย่างนั้นก็ตามเมื่อที่พวกเขาลงมือขุดเหมืองจริงๆ สิ่งที่พวกเขาพบนั้นกลับเหนือล้ำจากที่พวกเขาคาดไว้มาก
เพราะแทนที่จะเป็นอัญมณี หรืออย่างมากก็ฟอสซิลหอย สิ่งที่พวกคนงานพบในเหมืองนั้น กลับเป็นฟอสซิลโบราณของ “ปีศาจแห่งท้องทะเล” แทน
อ้างอิงจากทีมนักบรรพชีวินวิทยา ผู้ซึ่งเข้ามาศึกษาฟอสซิลหลังจากได้รับรายงานจากคนงานเหมือง เจ้าฟอสซิลโบราณชิ้นนี้น่าจะเป็นของ “ไทโลซอรัส” สัตว์เลื้อยคลานทะเลขนาดใหญ่ในกลุ่ม “โมซาซอร์” ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่เมื่อราวๆ 70 ล้านปีก่อนในยุคครีเทเชียส
พวกเขาบอกว่าชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของไทโลซอรัสที่พบนั้นโดยมากแล้วจะยังคงฝังอยู่ในหิน อย่างไรก็ตาม ฟอสซิลที่พบนี้ก็น่าจะมีชิ้นส่วนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ตั้งแต่หัวจนถึงหาง และอาจมีความยาวได้ตั้งแต่ 6.5-7 เมตร
คุณ Dan Spivak นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ Royal Tyrrell อธิบายว่า แค่ความยาวของส่วนกะโหลกที่พบ สัตว์ตัวนี้ก็มีส่วนหัวใหญ่โตราวๆ 1 เมตรแล้ว แถมดูจากฟันที่ยังคงหลงเหลือมาแล้ว เจ้าสัตว์ตัวนี้ก็น่าจะเคยเป็นยอดนักล่าในอดีตสมชื่อ ปีศาจแห่งท้องทะเลจริงๆ
ส่วนเรื่องที่ว่า ทำไมเราจึงพบชิ้นส่วนสัตว์ทะเลในเหมืองได้นั้น คงต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่นัก เพราะพื้นที่รัฐแอลเบอร์ตาแทบทั้งหมดนั้นในอดีตล้วนแต่เคยจมอยู่ใต้ทะเล ก่อนที่การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเปนแผ่นดินไป ในช่วงหลายล้านปีหลังจากนั้น
อ้างอิงจากแหล่งข้อมูล เดิมทีแล้วคนงานเหมืองกำลังขุดหา แอมโมไลต์ (Ammolite) อัญมณีหายาก ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่สีรุ้ง และมีความเกี่ยวข้องกับหอยแอมโมไนต์อีกที
ทั้งนี้เอง ทางพิพิธภัณฑ์ Royal Tyrrell ยังไม่ได้มีการตัดสินใจแต่อย่างไรว่าพวกเขาจะเอาฟอสซิลที่พบไปจัดแสดงหรือไม่ แต่ถ้าหากใครสนใจอยากชมปีศาจแห่งท้องทะเล ทางพิพิธภัณฑ์ก็มีการจัดแสดงโมซาซอร์ฟอสซิลตัวอื่นๆ ให้สาธารณชนเข้าไปชมกันได้ทั้งในแบบงานนิทรรศการและในตัวพิพิธภัณฑ์เอง
ที่มา livescience, cbc และ yahoo
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น