ในตอนที่นักโบราณคดีพบม้วนหนังสืออายุ 2,000 ปีในเมืองโบราณที่ถูกทำลายจากเหตุระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียส อย่างเมืองเฮอร์คิวเลเนียม สภาพของมันบอบบางลงมากจนการคลี่หนังสือออกทางกายภาพจะเป็นการทำลายวัตถุโบราณชิ้นนี้ในทันที
ด้วยเหตุนี้เองแม้ว่าในปี 1752 เราจะพบม้วนหนังสือในเมืองนี้กว่า 1,800 ชิ้น พวกมันส่วนมากก็ทำได้แค่ประดับพิพิธภัณฑ์ในฐานะวัตถุโบราณเท่านั้น และพวกเราก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เขียนเอาไว้ข้างในม้วนหนังสือเหล่านี้ได้เลย
อ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านๆ มาเมื่อมีการพยายามฝืนเปิดม้วนหนังสือเกิดขึ้น หากตัวม้วนหนังสือที่บอบบางไม่ฉีกขาดไปก่อน ตัวอักษรที่เขียนไว้ข้างในก็จะสัมผัสกับอากาศจนเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การตีความหนังสือที่พบแทบจะเป็นไปไม่ได้
เท่านั้นยังไม่พอ แม้ว่าปัจจุบันเราจะสามารถตรวจสอบหมึกบนม้วนหนังสือหลายๆ ชนิดโดยที่ไม่ต้องเปิดด้วยระบบรังสีเอกซ์พลังงานสูงได้ก็ตาม แต่นั่นก็จะเกิดขึ้นได้ในม้วนหนังสือที่เขียนด้วยหมึกที่มีโลหะเป็นส่วนผสมเท่านั้น ซึ่งผิดกับม้วนหนังสือของเฮอร์คิวเลเนียมที่ส่วนมากทำจากคาร์บอน
แต่แล้วดูเหมือนว่าในที่สุดโชคก็เข้าข้างนักโบราณคดีในปัจจุบันจนได้ เมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ ได้ออกมาเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ใหม่ที่จะทำให้เราสามารถอ่านข้อความบนม้วนหนังสือที่บอบบางเหล่านี้ได้อีกครั้งแล้ว
จากการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พบกับความเป็นไปได้ ที่จะใช้ระบบรังสีเอกซ์พลังงานสูงอ่านม้วนหนังสือประกอบกับระบบ AI การเรียนรู้(Machine Learning) อีกชั้นหนึ่ง
ระบบการถอดรหัสอันใหม่นี้ทำงานโดยการอาศัยชิ้นส่วนม้วนหนังสือที่ยังพออ่านได้จากในเมืองในการสอน AI ให้เรียนรู้ถึงตำแหน่งหมึกที่น่าจะเป็นของม้วนหนังสือนั่นๆ ก่อนที่จะให้ AI วิเคราะห์ภาพของม้วนหนังสือที่ได้มาจากระบบรังสีเอกซ์พลังงานสูงและการเก็บข้อมูลอื่นๆ อีกที
เมื่อการฝึกจบลง นักวิทยาศาสตร์ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบที่ออกมานั้นจะสามารถใช้ข้อมูลในการแยกจุดที่มีหมึกและไม่มีหมึกบนกระดาษออกมาได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็จะช่วยให้เราเห็นสิ่งที่เคยเขียนไว้บนกระดาษได้นั่นเอง
และหากอ้างอิงจากผลงานที่ออกมาในขั้นต้นของเจ้าเครื่องนี้ อนาคตของระบบนี้ก็ดูเหมือนจะสดใสเลยเสียด้วย “เราจะเห็นโครงสร้างภายในของม้วนหนังสือได้อย่างละเอียดยิ่งกว่าที่เคยเป็นไปได้” คุณ Brent Seales ศาสตราจารย์วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเคนตักกี้กล่าว
คุณ Brent Seales และทีมงาน
เขาอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าในปัจจุบัน ทีมงานได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการเก็บข้อมูลม้วนหนังสือด้วยระบบรังสีเอกซ์และกำลังพยายามทำการฝึกฝนระบบอัลกอริทึมให้ออกมามีความผิดพลาดน้อยที่สุดอยู่
“สิ่งแรกที่พวกเราหวังคือการทำให้เทคโนโลยีนี้สมบูรณ์แบบมากพอที่จะนำไปใช้กับม้วนหนังสือที่ยังไม่ได้เปิดอีก 900 กว่าม้วนได้โดยที่ไม่ต้องปรับแต่งเพิ่ม” คุณ Brent กล่าว
และในกรณีที่การทดลองเป็นไปได้ด้วยดี ทีมงานก็คาดการณ์ว่าระบบดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้จริงภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ที่มา allthatsinteresting, theguardian, bbc
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น