เรื่องราวเช่นนี้ทำให้ชวนปวดหัวเสียเหลือเกิน เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเชื่อจากฝั่งไหนก่อนในระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง หลังจากที่เกิดเป็นประเด็นเริ่มต้นจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563
โพสต์ชี้แจงผ่านทางเฟสบุ๊กว่าคนไทยอาจถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน หากมีไข้ อาการไอ จาม หรือหายใจติดขัด ตามมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วยไวรัส COVID-19 ของทางสหราชอาณาจักร
https://www.facebook.com/ThaiEmbLondon/posts/2763547120376127
หลังจากนั้นทางเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ได้ทำการรายงานผ่านเว็บไซต์ของสำนักในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยพาดหัวข่าว “เตือนคนไทยไปลอนดอน อาจโดนกักตัว 14 วัน ไอ จาม ไข้ งดเดินทาง!” โดยอ้างอิงมาจากโพสต์ต้นฉบับที่อยู่ในเพจสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน
.
ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เว็บไซต์ Antifakenewscenter.com ของหน่วยงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐ (Anti-Fake News Center Thailand) ที่ก่อตั้งโดยกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทำการเผยแพร่บทความด้วยหัวข้อ “ข่าวปลอม อย่าแชร์! เตือนคนไทยไปลอนดอน อาจโดนกักตัว 14 วัน”
เนื้อหาจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมระบุว่า ข่าวที่ปรากฎในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการเตือนคนไทยไปลอนดอนอาจโดนกักตัว 14 วัน ทางศูนย์ได้ตรวจสอบกับกระทรวงการต่างประเทศแล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ
กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่าไม่มีการออกมาตรการดังกล่าว แต่มีประกาศเตือนว่าหากมีการเดินทางไปประเทศที่มีการยืนยันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 (นอกเหนือจากจีน) ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ให้สังเกตอาการตนเอง และหากมีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ ขอให้ไม่ออกจากที่พักอาศัย และรีบโทรศัพท์แจ้งสายด่วนสาธารณสุขสหราชอาณาจักรทันที
พร้อมกับยืนยันลงท้ายว่า ตรวจสอบข้อมูลกับกระทรวงการต่างประเทศแล้ว
หลังจากนั้นทางผู้จัดการออนไลน์ได้รายงานข่าวต่อจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
.
ต่อมาในช่วงเย็นของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เว็บไซต์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษระบุว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐบาล เป็นฝ่ายปล่อยข่าวปลอมเสียเอง
https://www.khaosodenglish.com/news/crimecourtscalamity/2020/02/25/govt-anti-fake-news-center-caught-spreading-fake-news/
โดยทางสำนักข่าวข่าวสดภาคภาษาอังกฤษได้ทำการตรวจสอบกับทางกระทรวงการต่างประเทศเองอีกครั้ง และได้รับยืนยันว่าเพจสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนที่ยกมารายงานตั้งแต่แรกนั้นเป็นของจริง
มีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตดูแลเพจดังกล่าวอยู่ ในขณะที่ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการลบโพสต์ข่าวที่กล่าวหาออกไปแต่ยังคงเผยแพร่บนเว็บไซต์อยู่
โดยทางศูนย์ชี้แจงกับข่าวสดภายหลังว่าไม่ได้ตั้งใจปล่อยข่าวปลอม แต่เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก ‘ความเข้าใจผิด’
เรียบเรียงโดย #เหมียวเลเซอร์
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น