เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ทีมนักบรรพชีวินชาวอเมริกัน ได้ออกมารายงานการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นใหม่ ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Big Bend ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
โดยฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบในครั้งนี้นั้น เป็นของไดโนเสาร์สายพันธุ์ “Aquilarhinus palimentus” ไดโนเสาร์ปากเป็ดที่มีจุดเด่นอยู่ที่จมูกที่มีรูปร่างคล้ายนกอินทรี และคางซึ่งมีรูปร่างเหมือนเกรียงปูน
เจ้า Aquilarhinus palimentus นั้นเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในไดโนเสาร์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อราวๆ 80 ล้านปีก่อน โดยมันมีลักษณะโดยรวมที่คล้ายกับไดโนเสาร์หงอนในกลุ่ม Saurolophinae แต่ก็มีลักษณะที่เก่าแก่กว่าอยู่หลายอย่าง
ลักษณะเหล่านี้เอง ทำให้นักบรรพชีวินคาดว่าไดโนเสาร์ปากเป็ดหรือ Hadrosauridae (ซึ่งรวมทั้ง Aquilarhinus palimentus และไดโนเสาร์ในกลุ่ม Saurolophinae) อาจจะมีจุดกำเนิดมาจากตอนใต้ของ อเมริกาเหนือ ก่อนที่มันจะแพร่กระจายไปยัง อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และแอนตาร์กติกาในเวลาต่อมา
อ้างอิงจากรายงานการค้นพบ อันที่จริงแล้ว ฟอสซิลของ Aquilarhinus palimentus ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงยุค 1980 โดยเป็นส่วนกรามล่างของมัน
อย่างไรก็ตามกว่าที่ทีมวิจัยจะหาฟอสซิลส่วนจมูกของไดโนเสาร์ตัวนี้พบ มันก็เป็นในทศวรรษต่อมา เนื่องจากกระดูกทั้งสองส่วนมีรูปร่างที่แตกต่างกันมาก จนนักวิทยาศาสตร์เข้าใจผิดว่ามันเป็นกระดูกของไดโนเสาร์คนละตัวกัน
ฟอสซิลกรามล่างและฟันของ Aquilarhinus palimentus
และด้วยความที่ไดโนเสาร์ตัวนี้ มีส่วนหัวที่ค่อนข้างเก่าแก่กว่าไดโนเสาร์ในกลุ่มเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษา Aquilarhinus palimentus นั้นอาจจะนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของไดโนเสาร์หงอนต่อไปอีกในอนาคต
ที่มา livescience, foxnews และวารสาร Journal Journal of Systematic Palaeontology
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น