กลายเป็นข่าวที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในหมู่นักอนุรักษ์ไปแล้ว
เมื่อล่าสุดนี้เอง ได้กลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกของมนุษย์ ซึ่งความร้อนของโลก ได้ทำให้ธารน้ำแข็งหลักของอาร์กติกยังคงไม่แข็งตัวเพิ่มขึ้น แม้ช่วงเวลาจะผ่านเลยเข้ามาถึงเดือนตุลาคมแล้ว
อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักข่าวต่างประเทศ โดยปกติแล้ว น้ำแข็งในทะเลในอาร์กติกจะละลายในช่วงฤดูร้อนและจะกลับมาเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการละลายเมื่อเทียบกับการกลับมาแข็งตัวของน้ำแข็งได้ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำแข็งขั้วโลกโดยรวม กำลังลดลงไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามในปีนี้ ปัญหา อัตราการละลายมากกว่ากลับมาแข็งตัวของน้ำแข็งกลับรุนแรงขึ้นกว่าปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากในพื้นที่ได้เกิดเหตุคลื่นความร้อนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ส่งผลให้อุณหภูมิค่าเฉลี่ยในไซบีเรียสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรเป็นถึง 10°C และอุณหภูมิดังกล่าว ก็ยังคงทิ้งบาดแผลมาจนถึงช่วงฤดูหนาวด้วยการทำให้น้ำแข็งไม่แข็งตัวอย่างที่เคยเป็นด้วย
“การขาดการกลับมาแข็งตัวของน้ำแข็งจนถึงฤดูใบไม้ร่วงเช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในภูมิภาคไซบีเรียนอาร์กติก” คุณ Zachary Labe จากมหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด กล่าว
นี่นับว่าเป็นอะไรที่น่ากลัวมาก เพราะหากน้ำแข็งยังไม่แข็งตัวในช่วงเวลานี้ของปี ธารน้ำแข็งที่ออกมา ก็จะมีความหนาค่อนข้างน้อย จนอาจละลายไปอีกครั้งได้เร็วกว่าที่ควรเป็น
เพิ่มอุณหภูมิและระดับน้ำขึ้น แถมยังอาจส่งผลให้แพลงก์ตอนทั่วอาร์กติกได้รับสารอาหารน้อยลง ลดความสามารถในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศของพวกมัน
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะยิ่งทำให้โลกของเราที่ร้อนอยู่แล้วยิ่งร้อนขึ้นไปอีก ราวกับโดมิโนที่ผลักกันล้มไปเรื่อยๆ
“ปี 2020 เป็นอีกปีที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอาร์กติก และหากเรายังคงไม่มีการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นระบบเช่นนี้ เราก็คงจะต้องเห็นอาร์กติกที่ไม่มีน้ำแข็งเลยในฤดูร้อนเช่นนี้ไปอีกนาน” คุณ Zachary เสริม
และด้วยผลกระทบที่เริ่มส่งผลออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นนี้ คุณ Zachary และเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าเราคงเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วที่จะต้องทำอะไรสักอย่างกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลายลง
ที่มา iflscience และ theguardian
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น