กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในหมู่ผู้เชี่ยวชาญไปแล้ว เมื่อทีมนักสำรวจและนักบรรพชีวินวิทยาในประเทศเอธิโอเปีย ทำการค้นพบฟอสซิลกะโหลกศีรษะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของมนุษย์โบราณ ซึ่งได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในสายพันธุ์ “Australopithecus”
โดยฟอสซิลมนุษย์โบราณที่ถูกพบในครั้งนี้ เป็นของมนุษย์โบราณสายพันธุ์ “Australopithecus anamensis” กลุ่มมนุษย์ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อราวๆ 3.8 ล้านปีก่อน
และมีช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับมนุษย์ “Australopithecus afarensis” อันเป็นเผ่าพันธุ์ของ “ป้าลูซี่” ถึงราวๆ 100,000 ปี
ด้วยความที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่ของ A. anamensis จึงมีความใกล้เคียงกับป้าลูซี่ค่อนข้างมาก (เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อราวๆ 3.2 ล้านปีก่อน) อย่างไรก็ตามกระดูกเหล่านี้ยังมีจุดที่ต่างกันอยู่เล็กน้อย
ฟอสซิลชิ้นนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2016 โดยคุณ Haile-Selassie และเพื่อนร่วมงาน ใกล้ๆ กับชายฝั่งทะเลสาบใน Godaya Valley และได้รับชื่อว่า “MRD” ก่อนที่จะถูกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ที่ตรวจสอบ
อ้างอิงจากสถาบันมานุษยวิทยาวิวัฒนาการมักซ์พลังค์ ซึ่งมีโอกาสได้ตรวจสอบฟอสซิล MRD กะโหลกที่พบมีขนาดค่อนข้างใหญ่จนน่าจะเป็นของมนุษย์เพศชาย มีจุดเด่นอยู่ที่กระดูกกรามยื่น ฟันเขี้ยวขนาดใหญ่ในลักษณะคล้ายลิง และยังคงมีสมองที่ค่อนข้างเล็ก ราวๆ 1 ใน 4 ของมนุษย์ปัจจุบัน
คุณ Haile-Selassie ผู้ค้นพบฟอสซิล MRD
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าลักษณะของกระดูกกรามของ MRD นั้น น่าจะวิวัฒนาการมาเพื่อให้เคี้ยวอาหารแข็งได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแห้งแล้งที่พืชมีปริมาณลดลงอย่างมาก
ในขณะที่หลักฐานเก่าๆ ของโครงกระดูกส่วนอื่น ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่า MRD น่าจะเริ่มเดินสองขาแล้ว แต่ยังคงใช้ชีวิตบนต้นไม้เป็นหลัก
นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมาก เพราะด้วยความที่กระดูกที่พบมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ นักวิทยาสาสตร์จึงสามารถคาดเดาลักษณะหน้าตาเบื้องต้นของ MRD ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ไม่ยาก
แถมการที่มนุษย์สายพันธุ์นี้ มีช่วงเวลาการที่คาบเกี่ยวกับมนุษย์อีกสายพันธุ์ ก็ยังอาจเป็นหลักฐานอย่างดีที่ว่ามนุษย์เราไม่ได้มีการวิวัฒนาการที่เป็นเส้นตรงด้วย แม้ว่าข้อมูลในจุดนี้จะยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่ผู้เชี่ยวชาญอยู่ก็ตาม
ลักษณะใบหน้าของ MRD ที่ถูกจำลองขึ้นจากกะโหลกที่พบ
แต่ไม่ว่า สุดท้ายแล้วการวิวัฒนาการของมนุษย์จะเป็นเส้นตรงจริงๆ หรือไม่ เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าค้นพบในครั้งนี้จะนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์จริงๆ ดังเช่นที่คุณ Haile-Selassie ผู้ค้นพบฟอสซิลกล่าวไว้ว่า
“(ฟอสซิล) นับว่าเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ในช่วง Pliocene ของพวกเราเลย”
ที่มา theguardian, livescience และ washingtonpost
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น