มันเป็นเรื่องที่เราทราบกันว่าร่างกายของมนุษย์เราถูกออกแบบมาเพื่ออาศัยอยู่บนโลกที่มีแรงดึงดูด ทำให้ในสภาวะเกือบไร้แรงโน้มถ่วง เราจะเสียความหนาแน่นของกล้ามเนื้อไปได้ง่ายๆ แม้ออกกำลังกายถึงวันละ 2 ชั่วโมง
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับการเดินทางไปดาวที่อยู่ห่างไกลอย่างดาวอังคาร ที่ต้องใช้เวลาเดินทางว่า 3 ปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามหาทางแก้กันเรื่อยมา
ดังนั้น นี่อาจจะถือว่าเป็นข่าวดีของความก้าวหน้าทางการสำรวจอวกาศเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อล่าสุดนี้เองจากการทดลองส่งหนูตัดต่อพันธุกรรมขึ้นสู่อวกาศ นักวิทยาศาสตร์อาจจะค้นพบวิธีแก้ปัญหาการเสียกล้ามเนื้อแล้วก็ได้
อ้างอิงจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร PNAS ของสหรัฐอเมริกา เมื่อหลายเดือนก่อน นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการส่งหนูสองชนิดขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการสูญเสียกล้ามเนื้อ
หนูสองชนิดที่กล่าวมานั้นประกอบไปด้วย “หนูจอมพลัง” ที่ได้รับการตัดต่อยีน myostatin ให้มีกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ และหนูธรรมดา
พวกมันจะถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มกลุ่มละ 8 ตัว โดย 3 กลุ่มแรกจะเป็นหนูธรรมดา ในขณะที่กลุ่มที่ 4 จะเป็นหนูธรรมดาที่ถูกฉีดโปรตีน ACVR2B/Fc เพื่อเร่งการสร้างกล้ามเนื้อ และที่เหลือเป็นหนูจอมพลัง
เมื่อเวลาผ่านไป 33 วันนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าหนูธรรมดานั้น จะเสียมวลกล้ามเนื้อของพวกมันไปราวๆ 8-18% ในขณะที่มวลของกระดูกอีกก็ลดลงไป 8-11% ด้วย
อย่างไรก็ตามหนูจอมพลังที่มีมวลเริ่มต้นสูงกล่าวหนูปกติกลับแทบไม่เสียมวลกล้ามเนื้อไปเลย ในขณะที่หนูซึ่งฉีดสาร ACVR2B/Fc มีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น 27% โดยแลกกับไขมัน
ทั้งๆ ที่หนูซึ่งฉีดสาร ACVR2B/Fc แบบเดียวกันบนโลกจะมีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นแค่ 18% เท่านั้น แม้ว่าหนูบนโลกจะมีมวลของกระดูกเพิ่มขึ้นมากกว่าหนูบนอวกาศก็ตาม
ผลการทดลองที่ออกมานั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมากกว่าการเพิ่มความสามารถในการผลิตกล้ามเนื้อไม่ว่าจะโดยการตัดต่อพันธุกรรหรือฉีดสาร ACVR2B/Fc นั้นอาจจะเป็นทางออกของการป้องกันสุขภาพของนักบินก็ได้
แต่ก่อนที่เราจะด่วนดีใจกันไป นักวิทยาศาสตร์ก็ระบุไว้ด้วยว่าการทดลองในหนูนั้น อาจไม่ประสบความสำเร็จในรูปแบบเดียวกันกับคนเสมอไป และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยีน Myostatin ก็ไม่ใช่เรื่องที่ปลอดภัยนักด้วย
ถึงอย่างนั้นก็ตามหนูจอมพลังเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึง ความเป็นไปได้ในการบรรเทาผลกระทบจากการเดินทางในอวกาศระยะยาวได้เป็นอย่างดี
และการศึกษาพวกมันต่อไปก็อาจจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ สำหรับโรคอย่างกระดูกพรุน หรือกล้ามเนื้อฝ่อ บนโลกต่อไปได้เลย
ที่มา sciencealert และ pnas
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น