เมื่อเราพูดถึงสัตว์น้ำขนาดใหญ่อย่าง “วาฬ” เชื่อว่านี่คงจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ว่าใครก็คงจะนึกภาพออกเป็นแน่ เพราะเจ้าสิ่งมีชีวิตตัวนี้ คือสิ่งที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งท้องทะเลเลย
ว่าแต่เพื่อนๆ เชื่อกันหรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว เรื่องราวเกี่ยวกับวาฬ ที่มนุษย์เราทราบนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีอยู่มากอย่างที่เราคิด เพราะอ้างอิงจากงานนักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านๆ มามนุษย์เรายังไม่เคยมีการ “วัดคลื่นหัวใจ” ของวาฬอย่างเป็นทางการเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้น นี่จริงถือว่าเป็นการทดลองวัดคลื่นหัวใจวาฬที่ทำได้สำเร็จครั้งแรกของโลกเลยก็ว่าได้ เมื่อในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ออกมาตีพิมพ์รายงานผลการทดลองวัดคลื่นหัวใจวาฬอย่างเป็นทางการในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences
อ้างอิงจากในงานวิจัย ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวัดคลื่นหัวใจของวาฬในครั้งนี้ ด้วยการติดตั้งเครื่องมือรูปร่างคล้ายเปลือกหอยสีส้มไว้ที่ตัวของวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งภายในอุปกรณ์จะมีเซนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่วัดการเต้นของหัวใจผ่านครีบด้านซ้ายของมันอีกที
พวกเขาพบว่าวาฬสีน้ำเงินนั้น จะมีการลดอัตราการเต้นของหัวใจตัวเองลงอย่างไม่น่าเชื่อ ในตอนที่มันดำลงไปใต้น้ำ โดยจากที่มันเคยหัวใจเต้นราวๆ 30-35 ครั้งต่อนาที เมื่อดำลงไปใต้น้ำ พวกมันจะมีอัตราการเต้นของหัวใจ อยู่ที่เพียง 4 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น และในบางกรณีมันยังมีการเต้นของหัวใจแค่ 2 ครั้งต่อนาทีเลยด้วย
นี่นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจเอามากๆ สำหรับนักวิทยาศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพราะแม้ว่าพวกเขาจะคาดไว้อยู่บ้างว่าวาฬน่าจะมีการเต้นของหัวใจที่ลดลงเวลาอยู่ใต้น้ำ แต่ที่ผ่านมา พวกเขาก็คาดเดาไว้ว่าวาฬน่าจะมีการเต้นของหัวใจอยู่ที่ราวๆ 15 ครั้งต่อนาทีมากกว่า
ที่พวกเขาคิดเช่นนี้ เป็นเพราะวาฬเป็นสัตว์ที่มีวิธีการกินอาหารที่ดูแล้วเปลืองพลังงานเอามากๆ (กลืนแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำเล็กๆ ไปกับน้ำทะเล) ดังนั้นแม้ว่ามันจะมีหัวใจขนาดใหญ่ไว้สูบฉีดเลือด หัวใจก็น่าจะต้องเต้นหลายครั้งอยู่เพื่อให้เลือดเพียงพอต่อร่างกาย
“พวกเราไม่อาจทราบได้เลยว่า ทำไมการเต้นของหัวใจแบบนี้ถึงได้เพียงพอกับวาฬได้ และเราก็แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองเลยในตอนที่เห็นข้อมูลเริ่มต้น” คุณ Jeremy Goldbogen ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชีววิทยาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าว
แต่ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยเชื่อในสิ่งที่เห็นมากนัก พวกเขาก็พบกับข้อมูลที่น่าสนใจอีกข้อ นั่นเพราะหัวใจของวาฬที่เต้นช้าๆ ที่พวกเขาพบนี้ มันเป็นหัวใจที่กำลังทำงานแบบถึงขีดสุดแล้วด้วย ซึ่งอาจเป็นหลักฐานอย่างดีที่ว่าทำไม วาฬสีน้ำเงินจึงไม่สามารถวิวัฒนาการให้ตัวโตไปมากกว่านี้แล้วในสภาพแวดล้อมแบบปัจจุบัน
ด้วยข้อมูลสุดแปลกตาที่ออกมานี้เอง ทำให้นักวิจัยลงความเป็นทางเดียวกันว่าหัวใจของวาฬนั้น อาจจะมีลักษณะทางชีววิทยาอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกมัน สามารถใช้ชีวิตแบบสุดโต่งใต้น้ำเช่นนี้ก็ได้ จึงการศึกษาความสามารถเช่นนี้ของพวกมันเอง ก็อาจจะนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทราบมาก่อนของวาฬเลย
“สัตว์ที่มีระบบการทำงานทางสรีรวิทยาที่สุดโต่งเช่นนี้ จะสามารถช่วยให้เราเข้าใจขีด จำกัดของขนาดทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตได้เป็นอย่างดี” คุณ Goldbogen เสริม
ดังนั้น มันคงจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดเลยว่าแม้แต่ในบรรดาสัตว์ที่เรารู้สึกว่ามนุษย์คุ้นชินกับมันดี ในความเป็นจริงแล้ว พวกมันก็ยังอาจจะมีความลับที่เราไม่รู้แฝงเอาไว้อีกมากเลยก็เป็นได้
ที่มา newscientist, phys และ pnas
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น