ลึกเข้าไปภายในเกาะท่องเที่ยวเล็กๆ แต่มีชื่อเสียง อย่าง “เอาเตอร์ เฮบริดีส” (Outer Hebrides) ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศสกอตแลนด์ ยังคงมีแหล่งโบราณคดีหินยักษ์ ที่มีคุณค่าอย่าง “กองหินคัลลานิช” (Callanish Standing) ตั้งอยู่
โบราณสถานแห่งนี้ มีลักษณะเด่นอยู่ที่เสาหินปริศนา 13 ต้น ที่เรียงตัวกันเป็นวงกลมสมชื่อ โดยก้อนหินเหล่านี้สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อราวๆ 4,500-4,900 ปีก่อน เรียกได้ว่าอาจเก่าแก่ยิ่งกว่าสโตนเฮนจ์เสียอีก
เช่นเดียวกับสโตนเฮนจ์ของประเทศอังกฤษ กองหินคัลลานิชนั่น ตั้งแต่ในอดีตมาได้ถูกนักโบราณคดีเข้าไปตรวจสอบอยู่หลายครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น กลับไม่มีใครสามารถบอกได้เลยว่ามันสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร
จนกระทั่งเมื่อล่าสุดนี้เอง เมื่อทีมนักวิจัยจากโครงการฟื้นฟูแหล่งโบราณคดีคัลลานิชแบบเสมือนจริง (Calanais Virtual Reconstruction Project) ได้มีการเข้าไปตรวจสอบแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อีกครั้ง พวกเขาก็พบกับความเป็นไปได้ที่น่าสนใจที่ว่า
กองหินคัลลานิชนั้น แท้จริงแล้วอาจจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโดยมี “ฟ้าผ่า” เป็นแรงบันดาลใจก็ได้
แนวคิดที่กล่าวไปข้างต้นนี้ มาจากความจริงที่ว่าในพื้นที่กองหินคัลลานิช มีร่องรอยการถูกฟ้าผ่าใหญ่ (หรืออาจจะเป็นฟ้าผ่าเล็กแต่หลายครั้ง) โดยเฉพาะตรงกลางโบราณสถาน
ร่องรอยคล้ายรูปดาวที่เกิดจากฟ้าผ่า ตรงกลางโบราณสถาน
ดังนั้น พวกเขาจึงตั้งข้อสันนิษฐานกันขึ้นมาว่าในอดีต กองหินคัลลานิชอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติประเภทฟ้าผ่า โดยมันอาจจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบูชาสายฟ้าโดยเฉพาะเลยก็เป็นได้
อ้างอิงจากรายงานที่ออกมา ในปัจจุบันพวกเรายังไม่สามารถบอกได้ว่าที่แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นมาหลังจากฟ้าผ่า หรือถูกสร้างขึ้นมาก่อนเพื่อให้ฟ้าผ่ากันแน่
อย่างไรก็ตามจากการที่ในพื้นที่มีร่องรอยฟ้าผ่ามาก่อน “พีต” (ซากพืชตกค้างที่แปรสภาพไปสู่การเน่าสลายตัว) ในพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อราวๆ 3,000 ปีก่อน นักโบราณจึงได้คาดการว่าเหตุฟ้าผ่านั้น น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลา ใกล้เคียงกับที่กองหินถูกสร้างขึ้นเลย
“นี่ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญแน่ๆ” คุณ Richard Bates นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูหนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
“ไม่ว่าฟ้าผ่าที่นี่ จะเกิดขึ้นที่ต้นไม้หรือก้อนหินซึ่งไม่ได้อยู่ที่นั่นอีกต่อไปแล้ว หรือโบราณคดีคัลลานิชเป็นสิ่งที่ดึงดูดฟ้าผ่ามาก็ตาม มันก็แสดงให้เห็นว่าพลังแห่งธรรมชาติอาจมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันและความเชื่อของชุมชนเกษตรกรรมยุคแรกบนเกาะได้เป็นอย่างดีเลย”
ที่มา gizmodo, theguardian
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น