สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อน นั่นคือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วทุกมุมโลก บังคับให้สัตว์หลายๆ ชนิดต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอด นำไปสู่การสูญเสียระบบนิเวศ
และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นนั้นก็คือ การกระทำของมนุษย์ เอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวจำนวนมากเคยพยายามนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายที่อาจตามมา
ล่าสุด (27 กุมภาพันธ์ 2020) Ilya Mordvintsev นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับหมีขั้วโลก นักวิจัยจากสถาบันนิเวศวิทยาในกรุงมอสโก เขาก็ได้ออกมาบอกว่า…
“สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการกระทำของมนุษย์ คือสองสาเหตุหลักที่ส่งผลทำให้ “หมีขั้วโลก” ต้องหันมากินกันเองมากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
Ilya กล่าวว่าก่อนหน้านี้การที่หมีขั้วโลกต้องหันมาล่ากันเอง กินกันเองนั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากๆ คือแทบไม่มีให้เห็นเลย
แต่ปัจจุบัน กลับมีการพบว่าหมีขั้วโลกหันมากินกันเองค่อนข้างบ่อย เพิ่มจากเดิมมากชนิดที่ว่าแตกต่างอย่างชัดเจน สร้างความวิตกกังวลให้กับเหล่านักอนุรักษ์และนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพวกมัน
“ในบางฤดูกาล อาหารตามธรรมชาติอาจมีไม่เพียงพอ เหล่าหมีขั้วโลกตัวผู้ก็จะบุกโจมตีตัวเมียและลูกๆ และปัจจุบันเราพบกรณีเดียวกันนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น”
คำเตือน: ภาพถ่ายด้านล่างนี้ค่อนข้างสะเทือนอารมณ์
ภาพของหมีขั้วโลกคาบซากหัวของลูกหมี
การฆ่ากันเองที่เพิ่มมากขึ้นนั้นส่งผลให้จำนวนของพวกมันลดลงเร็วกว่าเดิม แสดงให้เห็นถึงการพังทลายของระบบนิเวศ โดย Ilya กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้พวกมันขาดแคลนอาหารนั้น เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลักๆ
ปัจจัยแรกคือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ธารน้ำแข็งลดลง พื้นที่อยู่อาศัยถูกจำกัดขอบเขตให้เล็กลงกว่าเดิม และอาหารก็หาได้ยากกว่าเดิมมาก
อีกปัจจัยก็คือการกระทำของมนุษย์ที่เข้าไปเบียดเบียนพื้นที่อาศัยและการใช้ชีวิตของพวกมัน โดย Ilya ได้ยกตัวอย่างถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นฝีมือของประเทศบ้านเกิดของเขา
นักวิทยาศาสตร์อาวุโสกล่าวว่า ปัจจุบันรัสเซียได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางด้านการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของพื้นที่ทางการทหาร
บริเวณพื้นที่ตั้งแต่อ่าว Ob ไปจนถึงทะเลแบเรนตส์ แต่เดิมมันคือพื้นที่สำหรับการล่าของหมีขั้วโลก ทุกปีหมีขั้วโลกจำนวนมากจะมาหาอาหารประทังชีวิตในบริเวณนี้อยู่เสมอ
แต่ปัจจุบันมันกลับกลายเป็นเส้นทางการเดินเรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติอันแสนคับคั่ง ค่อยๆ ทำลายพื้นที่ธารน้ำแข็งไปทีละนิดๆ และหมีขั้วโลกก็เริ่มไม่สามารถมาหาอาหารในบริเวณนี้ได้อีก
เพราะอย่างนั้นแล้วเหล่านักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าผู้คนจะหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้กันมากยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าในอนาคตเรายังต้องการจะเห็นสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ยังอยู่บนโลกของเรา
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ที่มา: CBS , TheGuardian , PlantBasedNews , Mirror
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น