เคยลองคิดกันเล่นๆ ไหมว่าสำหรับสิ่งเล็กๆ อย่างเซลล์แล้ว ร่างกายของเราคงจะเป็นเหมือนเขาวงกตไม่มีผิด แต่ถึงอย่างนั้นทำไมกันเซลล์เหล่านี้จึงสามารถรู้ได้ว่ามันต้องเคลื่อนที่ไปที่ไหนบ้างแทบจะเสมอ
คำตอบของคำถามนี้คือเซลล์เหล่านี้ จะใช้การนำทางโดยอาศัยสารดึงดูดทางเคมีในร่างกายของเราเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิธีการที่มีชื่อว่า Chemotaxis อีกที
แต่นั่นก็นำมาซึ่งคำถามใหม่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ที่ว่า แท้จริงแล้ว Chemotaxis มีความสามารถในการนำทางเซลล์มากน้อยแค่ไหนกันแน่อยู่ดี
และเมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งก็กำลังจะหาคำตอบของคำถามนี้ ด้วยวิธีการสุดแปลกอย่างการนำเซลล์มาทดลองในเขาวงกตของจริงพอดีเลยเสียด้วย
การวิจัยสุดแปลกในครั้งนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมันเป็น ผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ในสกอตแลนด์อีกที
ในการทดลอง ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้นำ Dictyostelium discoideum สัตว์เซลล์เดียวที่จัดอยู่ในกลุ่มอะมีบาไปขังไว้ในเขาวงกตขนาดจิ๋วที่จำลองมาจากพระราชวังแฮมป์ตันคอร์ตและเขาวงกตอื่นๆ
ก่อนที่พวกเขาจะทำการปล่อยสารเคมีที่ดึงดูดมันในอีกฟากของเขาวงกต และค่อยดูว่าอะมีบาที่เป็นตัวแทนเซลล์ในร่างกายสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีการเคลื่อนที่ในเขาวงกตอย่างไรต่อไป
เมื่อการทดลองดำเนินไป นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบว่าอะมีบานั้น มีการเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับที่พวกเขาคาดการณ์เอาไว้ โดยมันจะสามารถหาหนทางที่ถูกต้องในเขาวงกตได้ในเวลาตั้งแต่ 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วมาก
และที่สำคัญพวกมันจะเลือกทางที่ไปต่อถูกต้องเสมอๆ แม้จะเป็นครั้งแรกที่เขาสู่เขาวงกต
อ้างอิงจากทีมนักวิทยาศาสตร์ พวกเขาสันนิษฐานว่าที่เป็นแบบนี้อาจจะเป็นเพราะอะมีบาเหล่านี้ อาศัยการตามสารเคมีจากจุดที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุดไปยังจุดที่มีความหนาแน่นมากที่สุดเป็นหลัก
โดยมันเป็นการทำงานแบบเดียวกับสัตว์ที่เคลื่อนที่จากจุดที่มีอาหารอยู่น้อย ไปยังที่ที่มีอาหารสมบูรณ์
และได้รับการสนับสนุนจากความจริงที่ว่า อะมีบาที่เขาสู่เขาวงกตทีหลังจะมีโอกาสหลงทางสูงกว่ากลุ่มที่เข้าไปก่อน เนื่องจากสารเคมีในบริเวณเจือจางหรือเหลืออยู่น้อยแล้ว
การเคลื่อนที่ของเซลล์ในเขาวงกตแบบมีทางลัด (ล่าง) และแบบไม่มีทางลัด (บน)
แน่นอนว่างานวิจัยนี้อาจจะเป็นเพียงงานวิจัยที่แค่ช่วยพิสูจน์แนวคิดที่เราทราบกันมาตั้งแต่ในอดีตแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วนับว่าเป็นการทดลองที่น่าสนใจมากๆ ชิ้นหนึ่งเลยอยู่ดี
เพราะมันไม่เพียงแต่ทำให้พวกเราเข้าใจการทำงานของเซลล์ในร่างกายสิ่งมีชีวิตได้ดีขึ้นเท่านั้น
แต่การนำเซลล์ไปวิ่งในเขาวงกตเช่นนี้เอง ก็ถือเป็นการทดลองที่สร้างสรรค์และน่าติดตามแบบสุดๆ เลยเช่นกัน
ที่มา livescience, eurekalert และ sciencemag
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น